วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

คุรุเทพแห่งอียิปต์โบราณ ตอนที่ 2





ในตอนที่แล้ว ผมพูดถึงคุรุเทพ 3 องค์ ในนิกายที่นับถือจอมเทพโอสิริสเป็นใหญ่

ตอนนี้ ก็จะพูดถึงอีก 3 องค์ที่เหลือ ซึ่งมีทั้งเทพที่สาวกไอยคุปต์รู้จักดี และเทวีที่ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้จริงๆ จะไม่เคยเห็นเลยครับ

โดยในนิกายที่นับถือสุริยเทพรานั้น คุรุเทพที่นับถือกันเป็นเทวสตรี นั่นคือ มหาเทวีฮาเธอร์ (Hathor)

มหาเทวีองค์นี้ ทรงมีพระนามในภาษาอียิปต์ว่า เฮ็ท-เฮร์ต (Het-Hert)  และทรงเป็นเทพนารีที่เป็นที่เคารพรักอย่างกว้างขวางอีกองค์หนึ่ง ทั่วผืนแผ่นดินไอยคุปต์โบราณ       

พระนางเปรียบเหมือนวีนัสของอียิปต์ คือทรงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความใคร่ กามารมณ์อันร้อนแรง ความเฉิดฉาย และความมีเสน่ห์ของเพศหญิงครับ

อันที่จริง พระนางเป็นเทวีแห่งทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งศิลปวิทยาการทุกสาขาด้วย




โดยคติดั้งเดิมที่สุดของพระนางนั้น คือการนับถือในฐานะของแม่โคแห่งสวรรค์ บางคัมภีร์กล่าวว่า พระนางคือมารดาแห่งเอกภพ ผู้ควบคุมทั้งสวรรค์และบาดาล และครองฟ้าทั้งในซีกบูรพทิศและประจิมทิศ

สัญลักษณ์ของพระนางคือวัวสวรรค์ และพระนางก็ทรงเป็นสุริยเทวีองค์หนึ่งด้วยนะครับ ดังจะเห็นได้จากศิราภรณ์ที่เป็นรูปเขาวัวสีดำ และดวงอาทิตย์

พระนางทรงได้รับความเคารพบูชาอย่างมากมาย ต่อเนื่องในทุกราชวงศ์ และในแทบทุกเมืองของอาณาจักรอียิปต์ จนแต่ละนิกายพยายามดึงพระนางเข้าไปมีส่วนร่วมในบทบาทที่แตกต่างกันไป

นั่นก็เพราะว่า ในผืนแผ่นดินอียิปต์โบราณนั้น มีหลายลัทธิศาสนา เช่นเดียวกับอินเดียโบราณครับ

ลัทธิไหนนับถือเทวะองค์ใดเป็นใหญ่  และเคารพยกย่องมหาเทวีฮาเธอร์ด้วย  ก็จะพยายามนำพระนางเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทวะองค์นั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ 




เช่น การที่นิกายสุริยะอ้างว่า พระนางทรงเป็นธิดาของสุริยเทพรา ในขณะเดียวกัน ก็มีลัทธิย่อยในนิกายนี้ ที่ระบุว่าทรงเป็นชายาอีกองค์หนึ่งของสุริยเทพ

หรือในอีกลัทธิย่อย ของนิกายสุริยะเช่นกัน ที่นับถือ นางพญาสิงโตเซ็คเมต (Sekhmet) และกล่าวว่า มหาเทวีฮาเธอร์ทรงเป็นภาคที่สวยงามของเทวีเซ็คเมตผู้ดุร้าย ก็คือการจับพระนางมาเป็นธิดาของสุริยเทพรา และเอาไปรวมกับเทวีสิงโตอีกองค์หนึ่งนั่นเอง

ในลัทธิที่บูชา มหาเทพโฮรุส (Horus) ก็มีทั้งกล่าวว่า พระนางทรงเป็นชายา และพระมารดาของพระองค์

มหาเทวีฮาเธอร์ ทรงเป็นคุรุเทพแห่งนาฏดุริยางค์ การละคร ศิลปะการแสดงทุกสาขา ดังเทวรูปของพระนางที่มักจะทรงถือ ซิสทรัม (Sistrum) ซึ่งเป็นเครื่องให้จังหวะในพิธีกรรม

เทวสถานของพระนางที่เมือง เดนเดรา (Dendera) นั้น เป็นศูนย์กลางด้านนาฏดุริยางค์อย่างแท้จริงครับ




พระนางยังทรงเป็นเทพแห่ง สุคนธศาสตร์ (Aromatherapy) ซึ่งทั่วโลกยอมรับกันว่า ศาสตร์แขนงนี้มีกำเนิดมาจากอียิปต์

และนักบวชหญิงในเทวสถานของพระนาง ก็มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญในด้านการปรุงน้ำหอม และน้ำมันหอมมากที่สุดในโลกโบราณ

นอกจากมหาเทวีฮาเธอร์แล้ว ก็คือ มหาเทพพทาห์ (Ptah) ที่ทรงเป็นคุรุรุ่นเก่าที่สุดอีกองค์หนึ่ง ทรงเป็นที่เคารพบูชามาตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์นคร เมมฟิส (Memphis)

จริงๆ แล้ว พระนามของเทพองค์นี้ ฝรั่งบอกว่าควรออกเสียงคล้ายๆ ตาฮฺ ครับ

โดยเสียง t นั้น ออกเสียง ต. เบากว่า ต. ปกติ เพราะมี p อยู่ข้างหน้า ซึ่งเป็นการเน้นให้ออกเสียง t ในแบบที่ soft กว่า t ในภาษาโบราณทั่วไป จนเกือบจะเป็นเหมือนเสียง t ในภาษาอังกฤษทุกวันนี้ไงครับ

นักแปลสารคดีไทย ที่เอาเรื่องของมหาเทพองค์นี้มาเขียนกันตั้งแต่รุ่นแรกๆ จึงทับศัพท์พระนามของพระองค์ว่า พทาห์ หรือไม่ก็ พตาห์ ซึ่งผมเห็นว่า พทาห์ เป็นการทับศัพท์ที่ใกล้เคียงที่สุด จึงใช้ตามนี้มาตลอด




ประติมานวิทยาของมหาเทพพทาห์ คือเทพบุรุษที่ไว้พระเกศาสั้นเกรียน โดยในตำราเก่าหรือทั่วไป มักกล่าวว่าพระเศียรโล้น

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณวัตถุ ซึ่งแสดงถึงกษัตริย์และเจ้าชายต่างๆ ที่พระเศียรโล้นอย่างแท้จริงแล้ว ก็แตกต่างกัน

เพราะไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม หรือภาพเขียนต่างๆ ถ้าเป็นรูปบุคคลที่ศีรษะล้าน ในศิลปะอียิปต์ เขาจะทำศีรษะให้เป็นสีเดียวกับสีผิวหนังของบุคคลนั้นเสมอครับ

ขณะที่บางคนซึ่งตัดผมสั้นเกรียน ศีรษะก็จะเป็นสีดำเช่นเดียวกับมหาเทพพทาห์

จริงๆ แล้ว คนอียิปต์โบราณ ทั้งชายและหญิงมักโกนศีรษะ เพื่อไม่ต้องเป็นภาระที่จะต้องคอยดูแลรักษาเส้นผม จากโรคบนหนังศีรษะต่างๆ ที่ชุกชุมมากในแถบโอเอซิส แล้วถ้าเป็นผู้หญิง ก็จะสวมวิกผมแทน

ดังนั้น ถ้ามหาเทพพทาห์ทรงมีพระเศียรโล้น ก็จะดูแตกต่างจากเทพเจ้าองค์อื่น แต่ไม่แตกต่างจากตนอียิปต์ทั่วๆ ไปหรอกครับ

แต่นี่พระองค์ยังทรงไว้พระเกศาแบบที่พบได้ไม่บ่อยนัก ในศิลปะอียิปต์โบราณด้วย

ฉลองพระองค์ของมหาเทพพทาห์ เป็นแบบมัมมี่ คล้ายจอมเทพโอสิริส แต่ทรงถือสัญลักษณ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างไม้เท้า วาซ เซ็พเทอร์ (Was Sceptre)  เจ๊ด (Djed : เครื่องรางรูปกระดูกสันหลัง) และ อังค์ (Ankh)

ซึ่งมีความหมายถึงพลังอำนาจของเทวะ  ความมั่นคง และการปกป้องคุ้มครอง

ในลัทธิที่บูชาพระองค์นั้น มหาเทพพทาห์ทรงมีเทวานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุดครับ พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างโลก ทรงเป็นแกนกลางของสรรพสิ่ง อีกทั้งยังทรงเป็นเทพผู้ครองพิภพและใต้บาดาล

คติดังกล่าวนี้ ทำให้ในเวลาต่อมา พระองค์จึงยังคงเป็นหนึ่งในเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงวิญญาณของคนตาย เชื่อกันว่าพระองค์ทรงทำให้วิญญาณนั้นมีความคงทนและแข็งแกร่ง ในระหว่างรอการเกิดใหม่

อีกทิพยภาวะหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระองค์ในทุกยุคทุกสมัย คือพระองค์ทรงเกี่ยวข้องกับการตั้งบ้านเมือง การก่อรูปจากเล็กไปหาใหญ่ และการวางแผนงานขนาดใหญ่ทุกชนิดครับ 

      


พระองค์ทรงอยู่ในวัสดุที่มีความแข็งแรง ทรงเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง ในฐานะแกนกลางในร่างกายของมนุษย์และสัตว์  เช่นเดียวกับที่ทรงเกี่ยวข้องกับแกนกลางของพืช 

ดังนั้ร พระองค์ทรงเป็นแกนหลักของทุกๆ โครงสร้าง และในขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นรากฐาน และโครงสร้างของสรรพสิ่ง สารัตถะของพระองค์ คือการเป็นศูนย์กลาง และทุกสิ่งที่จำเป็น 

โดยทางเทวศาสตร์แล้ว เจ๊ด จึงเปรียบเหมือนคุณสมบัติของมหาเทพองค์นี้ และเป็นเครื่องรางประจำพระองค์ด้วยครับ

ผู้บูชามหาเทพพทาห์ยกย่องว่า พระองค์ทรงอยู่ในทุกหนทุกแห่งที่มีการสร้างสรรค์  ทรงเป็นคุรุเทพผู้คิดค้นงานช่างฝีมือสาขาต่างๆ โดยเฉพาะงานประติมากรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ความรู้ในการสร้างงานถาวรวัตถุต่างๆ ในโลกนี้ ล้วนมาจากพระองค์

เมื่อ ฟาโรห์เมเนส (Menes) รวบรวมอาณาจักรอียิปต์บนและล่างได้สำเร็จ และก่อตั้งราชวงศ์ที่ 1 ขึ้นในประวัติศาสตร์อียิปต์ ได้ทรงยกย่องมหาเทพองค์นี้ ให้เป็นเทพบิดรของเทพเจ้าทุกองค์

เชื่อกันว่า เป็นเพราะมหาเทพพทาห์ ทรงประทานการปกป้องคุ้มครององค์ฟาโรห์เมเนสในหลายๆ สถานการณ์  และทรงเกี่ยวข้องกับการสร้างอาณาจักรของฟาโรห์พระองค์นี้ด้วย ดังที่ทรงมีพระสมัญญานามว่า The White Wall of Menes 

ด้วยเหตุดังกล่าว มหาเทพองค์นี้จึงทรงมีเทวฐานะเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดมาก่อนยุครุ่งเรือง ของคติการนับถือสุริยเทพรา และจอมเทพโอสิริสครับ  




และนอกจากฟาโรห์เมเนส ผู้รวมแผ่นดินไอยคุปต์แล้ว จอมราชันย์อีกหลายพระองค์ในยุคหลัง ก็ทรงนับถืมหาเทพองค์นี้เป็นอย่างมาก

เช่น ฟาโรห์เซติที่ 1(Seti I)  และ ฟาโรห์ราเมสซิสที่ 2 (Ramesses II)  มหาราชทั้งสองพระองค์นี้ ล้วนทรงมีพระราชอำนาจที่มั่นคง ในการปกครองอาณาจักรทั้งสิ้น

แต่ต่อมา เมื่อคติการบูชาสุริยเทพราเจริญขึ้น ลัทธิการบูชามหาเทพพทาห์ ก็ถูกรวมเข้ากับนิก่ยสุริยะดังกล่าว

และในสมัยหลังๆ ยังมีผู้พยายามรวบรวมคติการนับถือ เทวีบาสเต็ต (Bastet) และเทวีเซ็คเมต เข้ากับการบูชาพระองค์ด้วย โดยกล่าวว่า เทพนารีทั้งสองทรงเป็นชายาของพระองค์

แล้วก็มาถึงคุรุเทวีองค์สุดท้าย ที่ผมบอกแล้วว่า ถ้าใครไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้อียิปต์ จะไม่เคยเห็นกันเลยครับ

นั่นคือ เทวีเซชัต (Seshat)




พระนางทรงเหมือนกับ มหาเทพธอธ (Thoth) มากครับ ทรงเป็นเทวีแห่งปรีชาญาณ สติปัญญา ความรู้ และการเขียน ทรงเป็นอาลักษณ์ และ ผู้ดูแลรักษาคัมภีร์ต่างๆ

พระนามของเทพนารีองค์นี้ หมายถึง she who is the scribe ในลัทธิศาสนาที่บูชาพระนาง ยกย่องว่าพระนางทรงเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นตัวอักษร เช่นเดียวกับมหาเทพธอธ

พระนางยังทรงเป็นเทพธิดาแห่งการบัญชี สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และการสำรวจ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือวิชาชีพที่จะต้องอาศัยความชำนาญในทักษะของพระนาง ซึ่งเอกสารยุคหลังๆ บางฉบับได้ถวายสมญานามในด้านนี้อย่างเฉพาะเจาะจงว่า Safekh - Aubi

เทพนารีแห่งห้องสมุด (Mistress of the House of Books) เป็นอีกฉายาหหนึ่งสำหรับพระนาง โดยนักบวชในสังกัดของพระนางนั้น จะเป็นนักบวชที่ทำหน้าที่ดูแลหอคัมภีร์ของเทวสถาน ซึ่งเป็นที่รวบรวมและเก็บรักษาม้วนกระดาษปาปิรัส ที่จารึกเวทมนต์คาถา และวิทยาการที่สำคัญที่สุด

มีศิลาจารึกกล่าวถึง เจ้าชาย Wep-em-nefret แห่งราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งทรงบังคับบัญชากรมอาลักษณ์หลวง และเป็นนักบวชของเทวีเซชัต แสดงว่า ลัทธิของพระนางต้องเก่าไปถึง 2,500 ปีก่อนคริสตกาลเป็นอย่างน้อยละครับ

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของพระนาง คือ ทรงเป็นเทพธิดาแห่งพงศาวดาร และลำดับราชวงศ์ อันเป็นสถาบันสูงสุดของแผ่นดินไอยคุปต์




โดยในรูปภาพของพระนาง มักทรงถือต้นปาล์มซึ่งมีลักษณะพิเศษ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งกาลเวลา และการควบคุวัฏจักรแห่งพระชนม์ชีพของฟาโรห์ทุกพระองค์ ซึ่งพระนางจะทรงบันทึกระยะเวลาที่กำหนดให้ฟาโรห์อยู่ในแผ่นดินโลก ไว้ในต้นปาล์มนี้ละครับ

นอกจากนี้ พระนางยังทรงเป็นผู้กำกับดูแล ในการบันทึกพระปฐมราชโองการ ของฟาโรห์ ในช่วงพิธีราชาภิเษกด้วย

ดังนั้น ในสมัยอาณาจักรใหม่ พระนางจึงได้รับการอัญเชิญเป็นพิเศษ ในเทศกาล Sed ที่จัดโดยฟาโรห์พระองค์ใดก็ตามที่ครองราชาย์ยาวนานครบ 30 ปี

ในฐานะเทวีแห่งอักษรศาสตร์ และวิศวกรรม พระนางยังทรงเป็นผู้อุปถัมภ์องค์ฟาโรห์ ในทั้งสองศาสตร์นี้ด้วยครับ

ทรงช่วยเหลือองค์ฟาโรห์ ในพิธีวางรากฐานของเทวาลัย และโครงสร้างอาคารที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อกำหนดการวางมณฑลทางเทวศาสตร์ รวมทั้งทรงช่วยเหลือนักบวชในการสำรวจรังวัดที่ดิน หลังจากน้ำท่วมประจำปีด้วย

ดังที่รูปภาพของพระนาง ที่ทรงถือเครื่องมือรังวัดสำหรับที่ดิน และสถาปัตยกรรม




ความรู้ในเรื่องเหล่นี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ได้มีอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญชั้นสูง เช่นสถาปนิกทุกคนเสมอไปนะครับ

ประติมานวิทยาที่สำคัญที่สุดของเทพนารีองค์นี้ คือ สัญลักษณ์ที่อยู่เหนือพระเศียร ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสื่อความหมายถึงอะไร ฟาโรห์ทุธโมสิสที่ 3 (Tuthmosis iii 1,479-1,425 ปีก่อนคริสกาล) ก็ทรงเรียกพระนางจากสัญลักษณ์เดียวกันนี้ว่า Sefket-Abwy (She of seven points) แต่ก็ไม่มีการอธิบายว่าหมายถึงอะไรกันแน่

ฉลองพระองค์ของพระนาง ก็แตกต่างกับเทพนารีองค์อื่นอย่างเห็นได้ชัดครับ

คือมักเป็นหนังเสือชีตาห์ หรือ เสือดาว อันเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชในพิธีมรณะ ซึ่งมีทั้งแบบที่พาดอยู่บนฉลองพระองค์ปกติ และแบบที่เป็นฉลองพระองค์ทั้งชุด

การที่พระนาง และนักบวชในพิธีมณะของอียิปต์ ต้องนุ่งห่มหนังเสือ คือการสื่อความหมายถึงดวงดาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งนิรันดร์กาล และเกี่ยวข้องกับท้องฟ้ายามราตรีครับ

ดังในมนต์บทที่ 10 ของจารึกบนโลงศพ (Coffin Texts) ซึ่งกล่าวว่า พระนางทรงเปิดประตูสวรรค์ สำหรับผู้วายชนม์




เทวีเซชัต มักได้รับการกล่าวถึงอย่างใกล้ชิดมหาเทพธอธ และเพราะว่าทรงอุปถัมภ์ในเรื่องเดียวกัน บทบาทของทั้งสององค์จึงทับซ้อนกันอยู่เสมอ

และก็เหมือนกับมหาเทวีฮาเธอร์ครับ คือบางครั้งก็มีการระบุว่า ทรงเป็นชายาของมหาเทพธอธ (โดยเฉพาะในสายการบูชาที่ไม่ให้ความสำคัญกับเทวีมาอัต Ma’at ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นชายาของมหาเทพธอธ) บางครั้งพระนางก็ทรงเป็นธิดา

เทวสถานที่สำคัญที่สุดของพระนาง อยู่ที่เมือง เฮลิโอโปลิส (Heliopolis) แต่ก็ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่มากนักในปัจจุบัน แม้แต่เทวรูป และภาพเขียนของพระนางก็หายากครับ


……………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 ความคิดเห็น:

  1. เคยเห็นฝรั่งเปรียบเทียบเทวรูปมหาเทพพทาห์กับราชวังออสการ์ค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เหมือนกันอย่างไม่ใม่ความบังเอิญครับ เขาวิเคราะห์ไว้แล้วด้วย ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ผมจำรายละเอียดไม่ได้

      ลบ
  2. อ่านต่วยตูนมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยเห็นเทวีเซชัตเลยจริงๆ ค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขนาด ต่วย'ตูนพิเศษ ยังไม่พูดถึง หนังสือเทววิทยาอียิปต์ที่ผู้เชี่ยวชาญในอดีตเรียบเรียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นของ อ.สำเริง สัมพันธารักษ์ หรือ อ.บรรยง บุญฤทธิ์ ก็กล่าวถึงน้อยมากครับ

      โบราณวัตถุที่เป็นของท่านก็น้อยครับ เจอเทวรูปแค่ไม่กี่องค์ และไม่สวยด้วย

      ลบ

มงคลและอัปมงคล

  * วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา * ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโ...