วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เทวีบาสเต็ต มารดาแห่งพลังชีวิตและความสุข





วิฬาร์เทวี บาสเต็ต (Bastet) เป็นเทพนารีผู้ทรงอำนาจอีกพระองค์หนึ่ง ของโลกอียิปต์โบราณ จนถึงปัจจุบัน

ในด้านหนึ่งนั้น พระนางทรงเป็นสุริยเทวี พระเนตรของพระนางคือแสงสว่างที่ทำลายความชั่วร้ายยามกลางคืน 
         
ในอีกด้านหนึ่ง พระนางคือสัญลักษณ์แห่งความสุข ความพึงพอใจ  ความปีติยินดี งานเลี้ยงสังสรรค์ และเทศกาลรื่นเริง

กล่าวกันว่า พระนางพอพระทัยที่จะปรากฏพระองค์ ในท่ามกลางการเฉลิมฉลอง และการดื่มกินอย่างฟุ่มเฟือย คละเคล้าเสียงดนตรี พระนางจึงทรงมี ซิสทรัม (Sistrum) เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์

คนทั่วไปยังเชื่อกันว่า พระนางทรงเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา ความปราดเปรียว และความคล่องแคล่ว ทรงเป็นที่รักอย่างยิ่งสำหรับทุกคนในทุกชั้นวรรณะ


ฺBastet by Spaceweasel2306
ฝรั่งโดยมากคิดว่า เทวีบาสเต็ตเป็นแมวสาวเจ้าเส่นห์แบบนี้ละครับ

เพราะว่า เทวีบาสเต็ต ทรงเป็นเทพประจำนคร บูบาสติส (Bubastis) นครศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งอยู่ในเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์

ซึ่งมีหลักฐานปรากฎชัดว่า ในแต่ละปี ผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนจากทุกสารทิศ หลั่งไหลไปที่นั่นในเทศกาลบูชาพระนาง อันถือกันว่า เป็นช่วงเวลาที่จะปล่อยตัว และดื่มกินอย่างเสรี 

ดังนั้น ภายหลังการเข้าบูชาพระนางในเทวสถานแล้ว ทุกหนทุกแห่งในนครนั้นก็จะมีการฉลอง มีการเสิร์ฟไวน์เป็นจำนวนมากกว่าที่ดื่มกินกันตลอดทั้งปี เป็นเวลาแห่งความสนุกสนาน ยิ่งกว่าการฉลองปีใหม่ของทุกชนชาติ       

แต่ผู้ใดก็ตาม ที่บูชาพระนางด้วยเทวรูปที่ผ่านการเทวาภิเษกอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการบูชาที่ถูกต้อง

จะพบว่า แม้จะพอพระทัยงานเลี้ยงและความรื่นรมย์ดังกล่าวแล้ว แต่พระนางเอง อาจมิใช่เทพนารีผู้ร่าเริง อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดกัน

พูดง่ายๆ ว่า แม้พระนางประทานพลังชีวิต ความสุข ความกระฉับกระเฉง

แต่ลึกๆ แล้ว ทรงมีความดุร้ายแอบแฝงอยู่ ตลอดจนความรู้สึก และความคิดอันคาดเดาได้ยากครับ
         
นั่นก็เพราะจากการศึกษาทางโบราณคดี ลัทธิดั้งเดิมของพระนาง ณ นครบูบาสติส แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พระนางทรงเป็น เทวีสิงโต มาก่อน แล้วค่อยมาเป็นเทวีแมวในภายหลัง


ประติมานวิทยาชั้นแรกสุด ของเทวีบาสเต็ต
ในรูปลักษณ์ของเทวีสิงโต

เพราะคติการนับถือพลังธรรมชาติ ในรูปแบบที่ใช้แมวเป็นสัญลักษณ์นั้น เป็นคติที่เกิดภายหลังการนับถือสิงโต

แล้วการที่คนอียิปต์โบราณ รวมทั้งคนแอฟริกันส่วนใหญ่นับถือสิงโตนั้น ก็เพราะพวกเขามองว่า สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของพลังอันดุร้าย น่าสะพรึงกลัว

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นภาพลักษณ์ของฐานะอันสูงส่ง เป็นใหญ่ในป่า และปกป้องคุ้มครองได้อย่างดีเยี่ยม เหมือนสิงโตตัวเมียที่ดูแลลูกของมันเอง

ดังนั้น ถ้านักบวชอียิปต์จะบอกว่า ใครเป็นเทพเจ้าที่ดุร้าย น่าสะพรึงกลัว แต่สูงส่ง และปกป้องคุ้มครองได้จริง ก็ต้องเอา สิงโตตัวเมีย นี่แหละครับ มาใช้เป็นประติมานวิทยา (Iconography) ของเทพองค์นั้น

เพราะฉะนั้น เทววิทยาที่ใช้กันอยู่ในบูบาสติส จึงสร้าง รูปเปรียบ หรือ ภาพ เทวีประจำนครของตน ให้เป็นเทวีสิงโต ดังกล่าวแล้วไงครับ

เมื่อคติการนับถือเทวีบาสเต็ต เจริญแพร่หลายถึงขีดสุดในแถบอียิปต์ล่าง พระนางจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับเทวีสิงโตองค์สำคัญอีกองค์หนึ่ง ที่ทรงแผ่พระเทวานุภาพอยู่ในอียิปต์บนขณะนั้น โดยได้รับการระบุไว้ในเอกสารต่างๆ ว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน

คือ เทวีเซ็คเมต (Sekhmet)


เทวีเซ็คเมต ภาพแกะสลักนูนต่ำระบายสี ที่ Kom Ombo

เพราะเทวีบาสเต็ต ทรงมีพระเศียรเป็นสิงโตมาตั้งแต่แรก ประติมานวิทยาเช่นนี้ ย่อมไม่แตกต่างอะไรจากเทวีเซ็คเมต ซึ่งทรงมีพระเศียรเป็นสิงโตเช่นกัน

จะผิดกันก็คือ เทวรูปเทวีบาสเต็ตแบบดั้งเดิมจริงๆ มิได้มีดวงสุริยะบนพระเศียรอย่างเทวีเซ็คเมต มีเพียง พญางูศักดิ์สิทธิ์ หรือ ยูรีอุส (Uraeus) เท่านั้น

ต่อมา เมื่อเริ่มมีการเชื่อมโยงระหว่างเทพนารีทั้งสอง เทวีบาสเต็ตจึงเริ่มมีดวงสุริยะบนพระเศียร

แต่นอกจากเทวีเซ็คเมต ในศาสนาอียิปต์โบราณยังมีเทวีสิงโตองค์อื่นอีกหลายองค์

ทั้ง เทวีมัฟเด็ต (Mafdet) เทวีมุต (Mut) เทวีเตฟนุต (Tefnut) และรวมถึง มหาเทวีฮาเธอร์ (Hathor) ด้วยในบางโอกาส

แล้วเหตุใด เทวีบาสเต็ตจึงเป็นเพียงองค์เดียว ที่ถูกรวมเข้ากับเทวีเซ็คเมต?


ภาพลักษณ์ของเทวีบาสเต็ต
ที่ฝรั่งตะวันตกจำนวนมากเข้าใจอย่างผิวเผิน

คำตอบเป็นอย่างนี้ครับ

ไม่ว่าจะเป็นเทวีมัฟเด็ต เทวีมุต และเทวีเตฟนุต ล้วนแต่ลดความสำคัญไปมากแล้ว ในยุคที่คติการบูชาเทวีบาสเต็ตเจริญรุ่งเรือง

ส่วนมหาเทวีฮาเธอร์ ก็ทรงมีบทบาทอื่นที่ชัดเจนกว่าเทวีสิงโตไปแล้ว

ทั่วอาณาจักรอียิปต์ขณะนั้น ดูจะเหลือเพียงเทวีเซ็คเมตเพียงองค์เดียว ที่ยังคงเป็นเทวีสิงโตผู้ทรงอานุภาพอยู่ในอียิปต์บน ประชันกันกับเทวีบาสเต็ต เทวีสิงโตผู้ทรงอำนาจกว้างขวางอยู่ในอียิปต์ล่าง

การรวมคติเกี่ยวกับเทพนารีทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงนับว่ามีประโยชน์ในทางการเมืองการปกครองเป็นอันมาก

เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ในอียิปต์บน ให้ยังคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอียิปต์ล่าง ซึ่งตามสภาพภูมิศาสตร์แล้วอยู่ห่างไกลกัน

และถ้าจะพิจารณาแล้ว ก็เป็นวิธีการที่แนบเนียนไร้ข้อตำหนิ เพราะเทพนารีทั้งสองทรงเป็นเทวีสิงโตมาแต่เดิมเหมือนกัน ดังกล่าวแล้วไงครับ

เพราะเหตุนี้ จึงทำให้เทพนารีทั้งสองได้รับการบูชาประหนึ่งเทพองค์เดียวกัน ในเทศกาลสำคัญๆ มาตลอด นับตั้งแต่ราวๆ 1,850 ปีก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา จนสิ้นอารยธรรมอียิปต์

ตัวอย่างอันชัดเจน ของคติดังกล่าวนี้ก็คือ ในพิธีกรรมต่างๆ นักบวชจะประกาศพระนามของเทวีบาสเต็ตในฐานะ เทพนารีผู้เป็นใหญ่แห่ง อังค์-ตาวี (Ankh-Tawy)” ซึ่งเป็นชื่อภาษาอียิปต์โบราณของนครเมมฟิส ศูนย์กลางคติการบูชาเทวีเซ็คเมตนั่นเอง


เทวีบาสเต็ต ในจินตนาการของศิลปินร่วมสมัย

ผู้บูชาเทวีบาสเต็ต โดยเทวรูปที่ผมทำพิธี ยังจะเห็นว่า แม้แต่คาถาบูชา ก็เป็นมนต์ที่ใช้กับพระนาง ในภาคที่เรียกว่า Sekhmet-Bast

คือจะใช้บูชาเทวรูปของพระนาง ที่ถือ อีจิส (Aegis) ซึ่งมีสัญลักษณ์ของเทวีเซ็คเมตในพระหัตถ์ซ้ายก็ได้ หรือบูชาองค์เทวีเซ็คเมตโดยตรงก็ได้

ผู้ศึกษาเทววิทยาควรตระหนักว่า เรื่องอย่างนี้มีอยู่ในเทวปกรณ์ของชนชาติอื่นๆ ทั่วไปในโลกเช่นกันครับ

ดังในคติฮินดู ซึ่งมีการรวมคติการบูชาเทพนารี 3 องค์ คือ พระอุมา พระทุรคา และ พระแม่กาลี เข้าเป็นองค์เดียวกัน แล้วอธิบายว่าเป็นการปรากฎพระองค์ในภาคต่างๆ พระอุมาเป็นภาคอ่อนโยน พระแม่กาลีเป็นภาคดุร้าย เป็นต้น

ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว เป็นเทพคนละองค์กันมาแต่เดิม

การรวมกันเช่นนี้ เพื่อประโยชน์ในการปกครอง อย่างที่ผมบอกไปแล้วละครับ

ส่วนในทางปฏิบัติ ใครจะศรัทธานับถือภาคใดเป็นพิเศษ ก็ไม่หวงห้าม

แต่ภายหลัง ความนิยมทางเทวศาสตร์แห่งบูบาสติสเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้สิงโตเป็น logo หรือสัญลักษณ์ ของพลังแห่งการปกป้องคุ้มครองจากเทวะนั้น เสื่อมความนิยมไป

และเกิดความนิยมใหม่ คือการใช้ แมว อันเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่คล้ายคลึงกัน แต่นุ่มนวลกว่า และใกล้ชิดผู้คนมากกว่าแทน


ภาพนี้ไม่มีจริงหรอกครับ
แต่แมวเป็นสัตว์ที่ได้รับการบูชาในอียิปต์มานานมาก

นั่นก็เพราะในทางเทวศาสตร์ไอยคุปต์ แมวก็เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้สังหาร พญางูอโปฟิส (
Apophis) ซึ่งเป็นศัตรูของสุริยเทพรา เป็นผู้ขจัดความชั่วร้าย ด้วยความเด็ดขาดและรวดเร็วเช่นกัน

ในขณะประติมานวิทยาของเทวีสิงโต ย่อมไม่อาจรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไป

เพราะแม้ว่า โดยทิพยภาวะขององค์เทพ ย่อมประทานพรได้ทุกอย่าง

แต่ประติมานวิทยา ย่อมจะทำให้เทวานุภาพขององค์เทพ ที่ถ่ายทอดผ่านเทวรูปนั้น ถูกจำกัด หรือ focus ไปด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

และไม่มีชนชาติใดในโลกนี้หรอกครับ ที่สามารถสร้างเทวรูป ให้ถ่ายทอดพระบารมีขององค์เทพ และเทวานุภาพได้ ครบทุกด้าน

เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะถ่ายทอดทุกอย่างที่เป็นนามธรรม ผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรม


เทวรูปเทวีบาสเต็ต องค์ที่งามที่สุดจากยุคอียิปต์โบราณ

ดังนั้น ถ้าทำเทวรูปของพระนางเป็นเทวีสิงโต พลังอำนาจของพระนางที่ส่งผ่านเทวรูปนั้น ก็ย่อมเป็นพลังในส่วนที่ดุร้าย เกรี้ยวกราด เหี้ยมเกรียม น่าสะพรึงกลัว เท่านั้น

ถ้าเปลี่ยนจากเทวีสิงโตเป็นเทวีแมว พลังอันเหี้ยมเกรียม ดุร้าย ก็จะเปลี่ยนไป

สิ่งที่จะถ่ายทอดผ่านเทวรูปได้ ก็จะเป็นพลังของพระนาง ในแง่ที่นุ่มนวล อ่อนหวาน กระฉับกระเฉง สดชื่น มีชีวิตชีวา มีเสน่ห์และความน่ารัก ตามธรรมชาติของแมว

สัญลักษณ์แห่งทิพยภาวะ หรือประติมานวิทยาของเทวีประจำนคร จึงเปลี่ยนจากสิงโตเป็นแมว ด้วยเหตุนี้

จริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีความสามารถทางจิต ที่เพียงพอจะเชื่อมโยงกับพระนางโดยตรง เราไม่มีทางรู้กันหรอกครับ ว่าองค์เทวีบาสเต็ตที่แท้จริง ทรงมีอุปนิสัยแบบใดกันแน่

แต่ถ้าเทวรูปแมวของพระนาง ได้รับความนิยมมากกว่าเทวรูปสิงโต และได้รับความศรัทธาบูชากันต่อเนื่องยาวนานกว่า

นั่นก็เป็นคำตอบในตัวของมันเองอยู่แล้วว่า พระนางเองก็ทรงโปรดให้คนบูชาพระนาง ด้วยเทวรูปเช่นนั้น

เพราะต่อให้มนุษย์จะบรรเจิด หรือบัญญัติกันตามใจอย่างไร ถ้าองค์เทพไม่เล่นด้วย เทวรูปที่มนุษย์กำหนดกันตามอำเภอใจนั้นก็ไร้ค่าครับ

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ฝรั่งตะวันตกคิดกันว่า เทวีบาสเต็ตองค์จริง ทรงเป็นเทพนารีที่ร่าเริง เต็มไปด้วยเสน่ห์อันอ่อนหวานและน่ารัก ไม่ใช่นางพญาที่เหี้ยมเกรียมและโหดร้าย เพราะนั่นคือพรที่ได้รับจากพระนาง

เพียงแต่ลืมนึกกันไปว่า พระนางทรงเป็นเทวีสิงโตมาก่อน


อีกภาพของเทวีบาสเต็ต
จากจินตนาการของศิลปิน digital art 

การบูชาพระนางผ่านเทวรูปแมว จึงไม่ทำให้ความดุร้ายของพระนางเสื่อมสูญไปโดยสิ้นเชิง

ตราบใด ที่แมวทั้งปวงในโลกนี้ มีทั้งแมวน่ารัก และแมวดุ ไม่ใช่ว่า จะมีแต่แมวมุ้งมิ้งน่ารักแสนซนเหมือนกันไปหมด

และจะเห็นผลชัด ถ้าใครก็ตาม ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้บูชาพระนาง ด้วยการกระทำทางไสยศาสตร์ มนต์ดำ ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาของชนชาติใดในโลกนี้ก็ตาม

ความเจริญรุ่งเรือง ของลัทธิที่บูชาพระนาง ปรากฏในรัชสมัยของ ฟาโรห์เชชองค์ (Sheshonk) ที่พระนางทรงได้รับการยกย่อง ให้กลายเป็นเทวีสูงสุดแห่งอาณาจักรไอยคุปต์ 

หลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่าความสำคัญของพระนางจะลดลงนะครับ แม้จะมีเทพองค์อื่นผลัดเปลี่ยนขึ้นเป็นเทพประจำอาณาจักรแทนก็ตาม 

ด้วยเหตุที่ว่า การนับถือบูชาพระนางได้แพร่ขยายไปทั่วอียิปต์ ไปไกลจนถึงลิเบีย
         

ซากเทวาลัยของเทวีบาสเต็ต แห่งนครบูบาสติส ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งจากความนิยมดังกล่าว และจากการที่ประติมานวิทยาของพระนาง เปลี่ยนจากสิงโตเป็นแมว ก็ทำให้ลัทธิศาสนาที่ใหญ่ที่สุด เช่น ลัทธิบูชาสุริยเทพรา (
Ra) อ้างว่า พระนางทรงเป็นชายาขององค์สุริยเทพด้วย

แต่ในคติของบูบาสติส ที่บูชาพระนางเป็นเทพสูงสุด เขานับถือกันว่าพระนางทรงเป็นเทวีแห่งความบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงไม่ทรงมีพระสวามีครับ 

แต่ในฐานะที่ทรงพอพระทัยงานรื่นเริง ก็โปรดที่จะประทานพรแก่คู่บ่าวสาว และจะร่วมในการฉลองการสมรสทุกครั้ง เพื่อประทานความสุขให้เสมอ


……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

6 ความคิดเห็น:

  1. คิดอยู่เหมือนกันค่ะ ว่าท่านแอบดุอยู่

    ไม่ใช่แมวลั้นลา แดนซ์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าเสกได้สมบูรณ์ เต็มองค์ ดุแน่นอนครับ

      ลบ
  2. ชอบทั้งสององค์คะ บาสเต็ตกับเซ็คเมต

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าจะบูชาทั้งสององค์ ควรตั้งพระเทวีไอซิสไว้ตรงกลาง เป็นองค์ประธานครับ

      ลบ
  3. พระแม่ในดวงใจค่ะ

    ตอบลบ

มงคลและอัปมงคล

  * วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา * ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโ...