วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

ประติมานวิทยา ของ พระเทวีไอซิส

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




พระเทวีไอซิส ทรงได้รับความนิยมนับถืออย่างกว้างขวาง และยาวนาน

เทวรูปของพระนางในศิลปะอียิปต์ จึงมีความหลากหลายกว่าเทพเจ้าองค์อื่นมาก

โดยประติมานวิทยาที่สำคัญที่สุด คือ เทวรูปไอซิสกางปีก (Winged Isis)

ซึ่งจะมีทั้ง ปีกแบบเหยี่ยว (Falcon Wing) และ แบบนกแร้ง (Vulture Wing)

ปีกสองชนิดนี้ต่างกันนะครับ




ปีกเหยี่ยวมีความโค้งมากกว่า ดูแล้วคล้ายๆ ปีก พญาครุฑ ของเรา

ส่วนปีกนกแร้งสยายยาว สันปีกเป็นเส้นตรง




ปีกทั้งสองชนิดนี้ อาศัยลำพระกรขององค์เทวีเป็นสันปีก สันปีกส่วนที่เหลือยาวออกจากพระดรรชนีไปจรดปลายปีก ขนปีกแผ่ไปทางด้านใต้ของพระหัตถ์และพระกร

การสร้างเทวรูปไอซิสกางปีก ก็เพื่อแสดงความหมาย 2 ประการครับ

คือแสดงความเป็นใหญ่ หรือพลังอำนาจที่มาจากเบื้องบน ในการเอาชนะศัตรู และทำลายล้างสิ่งชั่วร้ายทุกอย่าง จะแสดงด้วยปีกของเหยี่ยว 

และเทวานุภาพในการปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภยันตรายทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม รวมทั้งป้องกันจากคุณไสนมนต์ดำต่างๆ ซึ่งแสดงด้วยปีกของนกแร้ง

เทวรูปเช่นนี้มักจะไม่ถือเทพอาวุธ หรือเครื่องรางชนิดใดทั้งสิ้นครับ

ที่สำคัญก็คือ นี่เป็นเทวรูปชนิดเดียวที่เป็นแบบฉบับของพระเทวีไอซิสโดยเฉพาะ ไม่ซ้ำกับเทวีอื่นใด

เพราะเทพนารีที่มีปีกเช่นนี้ มีแต่ เทวีเนฟธีส (Nephthys) และ เทวีมาอัท (Ma’at) เท่านั้น

ทั้งสององค์มักมีปีกแบบนกแร้ง และศิราภรณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน

เทวรูปพระเทวีไอซิสแบบนี้ ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ลักษณะครับ

1) ประทับยืน สยายปีกแบบนกแร้ง มี 2 ลีลา คือ




1.1 ยกปีกข้างหนึ่งขึ้นด้านข้าง อีกข้างหนึ่งหลุบลงด้านหน้า




1.2 หลุบปีกทั้งคู่ลงด้านหน้าเหมือนกัน มีทั้งแบบที่ประทับยืนตรง และแบบที่ก้าวพระบาท

โดยศิราภรณ์ มีทั้งแบบเขาวัวโอบดวงสุริยะ และแบบเทวบัลลังก์ แต่อย่างหลังพบน้อยกว่า เป็นเทวรูปที่ถือกันว่ามีพลังในการปกป้องคุ้มครองมากที่สุด

เทวรูปชนิดนี้ มิได้ทำไว้เพื่อการบูชาโดยตรงครับ แต่สร้างขึ้นเพื่อผลเฉพาะอย่าง โดยมากประดิษฐานในอาณาบริเวณที่ต้องการการคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น ทางเข้าห้องบูชาที่สำคัญที่สุดในเทวสถาน, สุสาน




ปัจจุบัน เราจะเห็นมีเทวประติมากรรมที่ยืนตรง ยกพระกรขึ้นางปีกสองข้างแบบปีกเหยี่ยว เป็นการออกแบบขึ้นใหม่ในยุคหลัง เพื่อผลิตเป็นสินค้าครับ ไม่ใช่แบบโบราณ
-       
2) ประทับนั่ง มี 3 ลีลา คือ




2.1 ประทับนั่งหันหน้าตรง คุกเข่าข้างหนึ่ง ชันเข่าอีกข้างหนึ่งขึ้น สองพระกรกางออกด้านข้างพระองค์

ปีกมีทั้งแบบปีกเหยี่ยว และปีกนกแร้งยาวเลยปลายพระหัตถ์ออกไป




มักสวมศิราภรณ์แบบเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ ฉลองพระองค์ลายขนนก ลายดอก และลายปีกนกแร้ง

เป็นเทวรูปอีกแบบหนึ่งที่มิได้ใช้สำหรับตั้งบูชาโดยตรง แต่มักใช้ประกอบเครื่องราชูปโภคบ้าง ประกอบพระราชอิสริยยศบ้าง       




2.2 ประทับนั่งหันข้าง คุกเข่าด้านหนึ่ง ชันเข่าอีกข้างหนึ่งขึ้น หันพระพักตร์หันไปด้านข้าง และเป็นด้านเดียวกับพระชานุที่ชันขึ้น สยายปีกแบบปีกเหยี่ยว

ถ้าเป็นภาพแกะสลัก หรือจิตรกรรม อาจทำศิราภรณ์เป็นรูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะก็ได้ แบบเทวบัลลังก์ก็ได้

แต่ถ้าเป็นเทวรูปลอยองค์ ทำแต่รูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ หรือไม่ก็ทำแต่แถบผ้ารัดพระเกษาขมวดเป็นปม ทิ้งชายด้านหลังพระเศียร 

วิธีใช้ก็เหมือนแบบประทับนั่งหันหน้าตรง บางทีก็ทำเป็นเหรียญหรือเครื่องรางเล็กๆ




2.3 ประทับนั่งหันข้าง คุกเข่าแบบญี่ปุ่น (นั่งบนฝ่าเท้า) หันพระพักตร์หันไปด้านข้าง สยายปีกแบบปีกนกแร้ง แต่หลุบปลายปีกลงทั้งสองข้าง ไม่ยืดออกไปเป็นเส้นตรง

มักทำศิราภรณ์เป็นรูปเทวบัลลังก์ พบแต่ที่เป็นภาพแกะสลักและจิตรกรรม ไม่พบที่เป็นเทวรูปลอยองค์ 

ส่วนรูปแบบอื่นๆ ที่มิใช่ Winged Isis มีดังต่อไปนี้ครับ




พระเทวีไอซิสประทับยืน (Standing Isis)

อยู่ในท่ายืนตรง เงยพระพักตร์เล็กน้อย สองพระกรแนบพระวรกาย พระหัตถ์หนึ่งถืออังค์ อีกพระหัตถ์หนึ่งกำไว้หลวมๆ

มีกทรงศิราภรณ์รูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ ฉลองพระองค์แต่เดิมมักเป็นแบบแนบเนื้อ แต่ก็มีบ้างที่เป็นชุดยาวมีลวดลาย

เทวรูปอย่างนี้ มีแต่ที่เป็นประติมากรรมลอยองค์เท่านั้นครับ ไม่มีแบบที่เป็นภาพแกะสลัก หรือจิตรกรรมแม้แต่องค์เดียว
         
ในทรรศนะของผู้ชื่นชอบศิลปะอียิปต์โบราณ เทวรูปเช่นนี้เป็นแบบอย่างที่น่าสนใจน้อยที่สุด

แต่ก็เป็นหนึ่งในเทวรูปชนิดที่สร้างขึ้นเพื่อการบูชาจริงๆ มิใช่เป็นเครื่องตกแต่ง หรือเครื่องรางกำกับสถานที่อย่าง Winged Isis

เพียงแต่มักจะมิได้ประดิษฐานเพื่อการบูชาเป็นเอกเทศ มักตั้งรวมๆ ไปกับเทวรูปเทพองค์อื่นซึ่งประทับยืนเช่นเดียวกัน 

เทวรูปอย่างนี้ ในสมัยก่อนส่วนมากถูกตีความว่าเป็นมหาเทวีฮาเธอร์ เพราะไม่มีอักษรพระนามเหลืออยู่ ปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากหลักฐานแวดล้อมแล้ว ก็พบว่ามีทั้งพระเทวีไอซิส และมหาเทวีฮาเธอร์




พระเทวีไอซิสถือเซ็พเทอร์ (Isis holding the Sceptre)

เป็นเทวรูปชนิดที่ประดิษฐานเพื่อการบูชาเช่นกัน และสามารถตั้งบูชาตามลำพังได้

ประติมานวิทยาทั่วไปคือ ประทับยืนตรง ถือเซ็พเทอร์ไว้ด้านหน้า บางทีก็ทรงก้าวพระบาทข้างหนึ่งออกไปด้านหน้า





หรือไม่ก็ประทับนั่งบัลลังก์ พระหัตถ์ขวภือเซ็พเทอร์ พระหัตถ์ซ้ายอาจถืออังค์ หรือวางราบบนพระเพลา

เทวรูปเช่นนี้ มักทรงศิราภรณ์รูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ ฉลองพระองค์เป็นลายขนนก ลายปีกนกแร้งและลายดอก

นับเป็นแบบอย่างเทวรูปพระเทวีไอซิสซึ่งเป็นที่ชื่นชอบกันมากที่สุด เพราะท่วงท่าดูมีความสง่างาม เปี่ยมไปด้วยเทวานุภาพ




พระเทวีไอซิสซิสประทานพระกษิรธารา แด่องค์ยุวเทพโฮรุส (Nurseling Isis)

เป็นเทวรูปประทับนั่งบนบัลลังก์ ประคองยุวเทพไว้เหนือพระเพลาด้วยพระหัตถ์หนึ่ง อีกพระหัตถ์หนึ่งบีบพระถันแบบมารดาให้นมบุตร

มักทรงศิราภรณ์รูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ แต่ก็มีบ้างที่เป็นรูปบัลลังก์

ส่วนฉลองพระองค์มีเฉพาะพระภูษาทรง หรือผ้านุ่งเท่านั้น ส่วนมากเป็นเทวประติมากรรมลอยองค์ และมีขนาดเล็ก

สันนิษฐานกันว่า แม้จะเป็นเทวรูปสำหรับตั้งบูชา แต่ก็คงใช้สำหรับพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พิธีกรรมเฉลิมฉลองเกี่ยวแก่มหาเทพโฮรุสในคติโอสิเรียน

ในคติที่บูชามหาเทวีฮาเธอร์ ร่วมกับมหาเทพโฮรุส ก็ปรากฏว่ามีเทวรูปมหาเทวีฮาเธอร์ที่ทำอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งชวนให้สับสนเป็นอันมากครับ




พระเทวีไอซิสทรงกรรแสง (Mourning Isis)

ส่วนมากพบในภาพนูนต่ำระบายสี และในคัมภีร์มรณะ เพื่อแสดงถึงความโศกเศร้าในมรณกรรมของจอมเทพโอสิริส มักอยู่ในกิริยาประทับนั่งร้องไห้ เบื้องหน้าเทวรูปจอมเทพโอสิริส

ยังมีการค้นพบเทวประติมากรรมในคตินี้ ซึ่งอยู่ในอาการนั่งคุกเข่าแบบญี่ปุ่น พระหัตถ์หนึ่งยกขึ้นสัมผัสพระปราง อีกพระหัตถ์หนึ่งวางบนพระเพลา สวมศิราภรณ์รูปเทวบัลลังก์

เป็นเทวรูปทรงกรรแสงอีกแบบหนึ่งสำหรับใช้ในพิธี เซเบฮู ดเจร์ติ (Sebehu Djerti) หรือ พิธีแสดงความโศกเศร้า

ครับ, ก็มาศึกษาทำความเข้าใจกัน ว่าประติมานวิทยาของพระแม่เจ้าองค์นี้เป็นอย่างไร ทำขึ้นมาเพื่อจุดปะสงค์ใด

เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ปัจจุบันมีการทำขึ้นเป็นประติมากรรมอย่างแพร่หลาย ซึ่งถ้าเลียนแบบของโบราณได้ 60% ขึ้นไป ก็จะมีอาถรรพณ์ในตัว ควรรับการเทวาภิเษก และตั้งบูชา

การเทวาภิเษกพระเทวีไอซิสนั้น ที่จริงสามารถกระทำด้วยตนเองได้ ผลเคยเขียนไว้แล้วในหนังสือ สุริยเทวีปกรณ์

แต่ต่อมาพบว่า ถ้าเป็นผู้บูชาที่ไม่มีเจตนาจะตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ หรือเกจิอาจรย์ในด้านนี้ ก็ยังคงไว้วางใจ ให้ผมทำพิธีให้อยู่ดี


ดังนั้น ในตอนต่อไป ผมก็จะเขียนให้เป็นความรู้ สำหรับผู้ที่ไม่มีหนังสือดังกล่าวนะครับ ว่าในทางปฏิบัติ เขามีลำดับขั้นตอนกันอย่างไรบ้าง โดยไม่ลงลึกถึงรายละเอรยด และมนต์ที่ต้องใช้  


……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

มงคลและอัปมงคล

  * วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา * ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโ...