วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

มงคลและอัปมงคล

 *วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*



ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง

ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโบราณวัตถุของอียิปต์นั้น ไม่ควรจะนำมาใช้แต่งบ้าน 

เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีศพ หรือเรื่องเกี่ยวกับความตายทั้งสิ้น จึงถือเป็นอัปมงคลในศาสตร์ฮวงจุ้ย

ที่ท่านกล่าวไว้เช่นนั้น ก็มีส่วนถูกอยู่ไม่ใช่น้อยนะครับ

แต่จะต้องแยกแยะเป็นอย่างๆ ไป มิใช่เหมารวมไปหมดทุกอย่าง

เพราะในทางมรณศาสตร์ของอียิปต์โบราณ แม้เขาจะไม่ถือว่าความตายหรือสุสานเป็นเรื่องมงคล แต่เขาก็ได้ใช้สิ่งที่เขาถือว่าเป็นมงคลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่น้อย

และสิ่งที่เป็นมงคลในเทวศาสตร์ไอยคุปต์นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกสุสาน ก็เป็นมงคล

ส่วนสิ่งที่เป็นอัปมงคล คือเป็นเรื่องของความตายล้วนๆ ก็ไม่ควรจะเอามาเกี่ยวข้องกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ผมจะยกตัวอย่างพอสังเขปนะครับ ว่าอะไรที่เป็นมงคล-อัปมงคล ไม่ว่าในทางเทวศาสตร์ไอยคุปต์ และศาสตร์ฮวงจุ้ย



1. ศิลปวัตถุที่ทำเลียนแบบโลงพระศพ ของฟาโรห์ตุตันคาเมน หน้ากากทองคำสำหรับครอบพระพักตร์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน รวมทั้งคาร์โนปิค (Carnopic) หรือภาชนะสำหรับบรรจุอวัยวะภายในของพระองค์ (แบบในภาพ)

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอัปมงคล และยิ่งเลียนแบบได้เหมือนของจริงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นอาถรรพณ์ ไม่ควรจะนำมาใช้แต่งบ้าน




2. ภาพเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในพระราชสุสานของฟาโรห์ พระราชินี และสุสานของบุคคลสำคัญต่างๆ มีทั้งที่เป็นมงคลและอัปมงคล

เช่น ถ้าเป็นภาพเทพเจ้าที่กำลังประทานชีวิต โอบกอด หรือจูงมือบุคคลที่เป็นเจ้าของสุสานนั้น ไม่นับว่าเป็นอัปมงคล แม้เอามาแต่งบ้านก็ไม่มีผลเสียหายใดๆ ในทางฮวงจุ้ย



3. ภาพฟาโรห์ที่กำลังประกอบพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ประหารศัตรู หรือฆ่าฮิปโปโปเตมัส เป็นเรื่องของการฆ่าฟันกัน

ย่อมเป็นอัปมงคลในทางฮวงจุ้ย และคนอียิปต์โบราณเขาก็ไม่เอามาแต่งบ้าน หรือพระราชวัง



4. ภาพนักดนตรี นักระบำ ที่เกี่ยวกับความบันเทิง การเฉลิมฉลองต่างๆ และภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ไม่มีผลเสียหายใดๆ

 


5. ภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้า แม้เป็นเรื่องของการประหารศัตรู เช่นภาพแมวบาสเต็ตกำลังฆ่าพญางูอโปฟิส ก็ไม่นับว่าเป็นอัปมงคล

 


6. ภาพการตัดสินความดีความชั่วของผู้ตาย ด้วยการชั่งน้ำหนักหัวใจ ภายในหอพิพากษาของจอมเทพโอสิริส

 แม้ในเทวศาสตร์ไอยคุปต์ไม่ถือเป็นอัปมงคล แต่เขาก็ไม่นำมาตกแต่งอาคาร หรือข้าวของเครื่องใช้สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน

 


7. ภาพอักษรไฮโรกลิฟส์ ที่เราไม่รู้ความหมายว่ากำลังบรรยายเรื่องอะไร ก็ไม่ควรนำมาใช้แต่งบ้าน

เพราะส่วนมากจะลอกเลียนแบบมาจากภายในสุสาน ซึ่งถ้าเป็นเรื่องทั่วไป เช่นบรรยายประวัติชีวิตและผลงานของเจ้าของสุสาน ก็ไม่มีผลเสีย

แต่ถ้าเป็นคู่มือ สำหรับให้เจ้าของสุสานใช้ในการเดินทางไปยังปรโลก เช่นคาถาอาคมที่ต้องใช้ในการผ่านด่านต่างๆ

ก็ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับคนตาย แม้คนอียิปต์โบราณที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่นำมาใช้กัน

 


8. ของเลียนแบบประติมากรรมข้าราชบริพารจำลอง ที่เรียกกันว่า ชาวับตี (Shawabti) และกองทหารจำลอง เช่นที่พบในพระราชสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน

สิ่งเหล่านี้ใช้ในแนวคิดเดียวกับของกงเต็กในทางมรณศาสตร์ของจีน จึงไม่ควรนำมาใช้แต่งบ้านเช่นกัน

 


9. ศิลปวัตถุที่ทำเลียนแบบเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องราชูปโภคทั่วไป เช่นบัลลังก์ทองที่มีภาพฟาโรห์ตุตันคาเมนกำลังมีความสุขกับพระมเหสี หรือกล่องกระจกรูปอังค์ ไม่มีผลเสียแต่อย่างใด

แต่จะต้องมีความรู้ด้วยนะครับ ว่าเป็นของที่ทำเลียนแบบเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไป หรือของใช้ในพิธีศพ

 


อย่างโถคาร์โนปิคในภาพ มีการทำเลียนแบบเอาไว้ให้ใช้ใส่ของจุกจิก หรือเป็นกระปุกเครื่องสำอาง ผมเห็นแล้วไม่รู้จะว่าอย่างไร

 


10. ของเลียนแบบเครื่องรางที่ใช้ในพิธีศพ ถ้าเป็นไปตาม link นี้ ย่อมไม่มีผลเสียหายอันใด

https://sacredisis.blogspot.com/2019/08/blog-post.html

เพราะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปก็มีใช้กัน 

...................................

 หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

พญาเหยี่ยวไอยคุปต์


*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




ในทรรศนัของคนอียิปต์โบราณ เหยี่ยว เป็นสัญลักษณ์แทนความสูงส่ง ความสง่าน่าเกรงขาม ความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้พิชิต

เพราะโดยธรรมชาติของเหยี่ยวนั้น เป็นสัตว์ที่บินสูง มันคอยมองเหยื่อจากกลางอากาศ แล้วเมื่อพบก็โฉบลงจับเป้าหมายของมันได้โดยไม่ผิดพลาด กรงเล็บอันแข็งแกร่งของมันพันธนาการเหยื่ออย่างไม่มีโอกาสดิ้นหลุด

และตามสภาพภูมิศาสตร์ของอียิปต์แล้ว เหยี่ยวเป็นนกที่ดูสง่างามยิ่งกว่านกชนิดใดๆ ที่รู้จักกัน

เทพที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอำนาจเหนือผู้อื่น ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวนกเหยี่ยว

เป็นการแสดงความหมายขององค์เทพ ด้วยรูปแบบทางศิลปกรรรม ซึ่งรียกกันว่า ประติมานวิทยา (Iconography) เท่านั้น มิได้หมายความว่า เทพองค์นั้นทรงมีพระเศียรเป็นสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ ครับ

และเช่นเดียวกัน ก็จะมีการสร้างประติมากรรมขององค์เทพเหล่านั้น ด้วยรูปของเหยี่ยวทั้งตัว ทั้งในท่ายืนและท่าที่กำลังบิน โดบใช้เป็นเครื่องราง และสัญลักษณ์แทนพระองค์เท่านั้น มิใช่สำหรับบูชาอย่างเต็มรูปแบบ เหมือนเทวปฏิมาที่มีพระวรกายเป็นมนุษย์

ในประติมานวิทยาไอยคุปต์ เทพที่มีสัญลักษณ์เป็นพญาเหยี่ยวนั้นมีด้วยกันหลายองค์ แต่ที่สำคัญจริงๆ และมีมาตั้งแต่ยุคแรกสุด มีเพียง 3 องค์ ซึ่งเป็นจอมราชันย์แห่งสวรรค์ โลก และสัมปรายภพ




สุริยเทพรา (Ra) จอมราชันย์แห่งสวรรค์

ทรงเป็นเทวกษัตริย์ หรือฟาโรห์องค์แรกแห่งปฐมกาล ทรงเป็นผู้ถือกำเนิดด้วยพระองค์เอง และทรงครอบครองสวรรค์และโลก ซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นด้วยพระเทวานุภาพของพระองค์

ในเทวตำนานไอยคุปต์กล่าวว่า มนุษย์ไม่รู้ถึงเทวลักษณะที่แท้จริงของพระองค์หรอกครับ จนกระทั่งพระองค์ได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปของดอกบัว

พระองค์ยังได้ปรากฏในรูปอื่นอีก เช่น เสาโอเบลิสค์ (Obelisk) ซึ่งชาวอียิปต์เรียกว่า เบน-เบน (Ben-Ben)

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า ทุกเช้าภายหลังการสรงน้ำ และการเสวยแล้ว พระองค์และคณะเทพผู้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในโลก จะเสด็จประทับบนเรือสุริยะเดินทางข้ามขอบฟ้า เพื่อทอดพระเนตรเหตุการณ์ในเมืองสำคัญของอาณาจักรอียิปต์ 12 เมือง เมืองละ 1 ชั่วโมง

หลังจากนั้น แสงสว่างของพระองค์จะสลัวลง และจะเสด็จลงไปใต้พื้นโลกทางทิศตะวันตก

บางคัมภีร์กล่าวว่า ระยะเวลานั้นเป็นห้วงเวลาที่พระชนม์ชีพของพระองค์หมดสิ้นลง วิญญาณของพระองค์จะลอยไปท่ามกลางความมืดมิดแห่งยมโลก และถูกคุกคามด้วยการโห่ร้องของบรรดาผีร้ายต่างๆ

จนรัตติกาลผ่านไปครบ 12 ชั่วโมง พระองค์ก็จะถือกำเนิดใหม่ และจะเสด็จลงเรือสุริยะพร้อมกับคณะเทพทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง หมุนเวียนเช่นนี้ไปชั่วนิรันดร์

สุริยเทพราทรงเป็นเทวกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองอียิปต์ แต่เมื่อพระองค์เริ่มชราภาพ ก็ได้มีเหตุการณ์ที่บังคับให้พระองค์ต้องละทิ้งโลกมนุษย์ ซึ่งมีกล่าวไว้ในเทวปกรณ์ที่แตกต่างกัน 2 กระแสครับ

กระแสหนึ่งกล่าวว่า เมื่อเป็นที่ล่วงรู้กันว่าองค์สุริยเทพทรงชราภาพเกินกว่าจะปกครองต่อไปได้ มนุษยชาติก็ขาดความยำเกรง เหยียดหยาม และวางแผนร้ายต่อพระองค์

เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงการกบฏนี้ จึงตัดสินพระทัยสังหารเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ให้หมดสิ้นครับ





เครื่องมือแห่งความหายนะ ที่พระองค์ประทานแก่โลก คือ เทวีเซ็คเมต (Sekhmet) ซึ่งปรากฏในรูปของนางพญาสิงโตผู้กระหายเลือด ตระเวนไปทั่วอียิปต์ คร่าชีวิตมนุษย์อย่างโหดเหี้ยมไปเหลือคณานับ

การทำลายอันน่าหวาดหวั่น ดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน จนในที่สุด สุริยเทพทรงเกิดความเมตตาเหล่ามนุษย์ที่เหลืออยู่ไม่มาก และกำลังหนีตายอยู่นั้น พระองค์จึงได้ส่งเลือดปลอมที่ทำจากไวน์ไปให้เทวีเซ็คเมตดื่ม

เมื่อพระนางอิ่มแล้วจึงได้บรรทมหลับไป และเมื่อตื่นขึ้นอีกครั้ง พระนางก็กลายเป็น มหาเทวีฮาเธอร์ (Hathor) หรือเทวีแห่งความรัก


ในที่สุด องค์สุริยเทพได้ตัดสินพระทัย ที่จะละทิ้งทุกสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้น พระองค์ตรัสว่า

เราเหนื่อยหน่ายอย่างยิ่ง ในการอยู่ร่วมกับมนุษย์ ตอนนี้หัวใจของเราอ่อนล้า เราได้สังหารพวกเขาจนแทบจะถึงคนสุดท้าย ดังนั้นคนที่เหลืออยู่จึงไม่ใช่กิจธุระของเรา

จากนั้น พระองค์ลอยไปอยู่บนฟ้า โดยเสด็จประทับไปบนหลังแม่โคศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นร่างแปลงของ เทวีนุต (Nut) เทวีแห่งนภากาศ ซึ่งเป็นพระชายาของพระองค์

เทพเจ้าทั้งหลาย ได้อาศัยแม่โคศักดิ์สิทธิ์ไปสู่สวรรค์ในคราวนี้ด้วย ยังคงเหลือเทพอยู่ในโลกเพียงไม่กี่องค์เท่านั้น

สุริยเทพราได้ประทานราชบัลลังก์ในโลกให้ เทพชู (Shu) ทรงปกครองต่อมา แต่ตลอดรัชกาลของเทพชู พระองค์ต้องปราบปรามผู้วางแผนชิงบัลลังก์ และความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไป

ในปลายรัชกาล พระองค์ก็ทรงเป็นโรคร้าย จนแม้พระสหายที่ทรงสนิทที่สุดก็ยังเป็นกบฏต่อพระองค์

เทวกษัตริย์องค์ที่ 3 ที่ครองราชย์ต่อมาคือ เทพเก๊บ (Geb) ผู้รักษาแผ่นดินโลก ซึ่งก็พบกับความยุ่งยาก และทรงถูกทำลายด้วยลมหายใจจาก ยูรีอุส (Uraeus)

ก่อนที่ยุคแห่งอารยธรรมอย่างแท้จริงบนโลก จะเริ่มต้นด้วยการปกครองของฟาโรห์องค์ที่ 4 คือ จอมเทพโอสิริส

อีกกระแสหนึ่ง ซึ่งอยู่ในคติโอสิเรียน กล่าวว่า พระเทวีไอซิสทรงวางแผนให้พระองค์สละราชบัลลังก์ประทานจอมเทพโอสิริส ตามที่ผมได้โพสต์ไปแล้วก่อนหน้านี้ ใน ปกรณัมแห่งไอซิส





นอกจากเรือสุริยะ อันเป็นราชยานที่ทรงอานุภาพของสุริยเทพราแล้ว พระองค์ยังทรงมีราชรถทองด้วยนะครับ

ราชรถทองนี้ จะถูกบรรจุไปในเรือสุริยะทุกวัน และพระองค์จะทรงใช้เมื่อศัตรูสำคัญของพระองค์ คือ พญางูอโปฟิส (Apophis) ทะยานจากที่หลบซ่อนในส่วนลึกที่สุดของแม่น้ำไนล์ ขึ้นมาโจมตีเรือสุริยะของพระองค์

ถ้าพระองค์และคณะเทพทั้งหลาย ยับยั้งการโจมตีนั้นไว้ไม่ได้ องค์สุริยเทพจะสละเรือสุริยะ และทรงใช้ราชรถทองคำเสด็จหนี จอมปิศาจอโปฟิสก็จะคาบกลืนเรือนั้นไว้ได้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะถูกตอบโต้จนต้องยอมคายเรือออก แล้วหนีกลับสู่แม่น้ำไนล์อีกครั้งหนึ่ง

ช่วงที่พญางูอโปฟิสกลืนเรือสุริยะเข้าไปนี้ ชาวอียิปต์อธิบายว่า เป็นต้นเหตุของ สุริยคราส ครับ

ในทางจักรวาลวิทยา ได้มีการบรรยายไว้ว่า สุริยเทพราทรงประทับอยู่บนบัลลังก์ทำด้วยเหล็กกล้า ล้อมรอบด้วยเทพเจ้าผู้อาวุโส ซึ่งเคลื่อนไปรอบๆ พระองค์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นก็คือ ภาพจำลองของระบบสุริยะนั่นเอง

และแสดงให้เห็นว่า ชาวอียิปต์รู้เรื่องโลกและดาวเคราะห์ต่างๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์ มานานนับพันปีก่อนนักดาราศาสตร์ยุโรปครับ




มหาเทพโฮรุส (Horus) จอมราชันย์แห่งโลก

ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งเทวกษัตริย์ หรือฟาโรห์ผู้ปกครองแผ่นดินไอยคุปต์ ทรงมีพระนามในภาษาอียิปต์ว่า เฮรู (Heru)

ในเทวตำนาน พระองค์ประสูติ ณ เกาะเชมมิส (Chemmis)ในช่วงเวลาอันมืดมนที่สุด ภายหลังจากพระบิดา คือจอมเทพโอสิริส ถูกเทพเซธปลงพระชนม์และแย่งชิงราชบัลลังก์

พระเทวีไอซิส พระมารดาของพระองค์ ต้องทรงฝากฝังพระองค์ไว้กับนางพญางูผู้ทรงอำนาจ และต้องจากไปเป็นเวลาแรมปี เพื่อตามหาพระศพของจอมเทพโอสิริส

และพระองค์ก็กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป เมื่อเทพเซธสามารถแปลงร่างเป็นแมงป่อง หลุดรอดสายพระเนตรของเหล่าเทพเจ้าที่เฝ้าปกป้องพระองค์ เข้ามาต่อยพระองค์ซึ่งยังแบเบาะ จนถึงสิ้นพระชนม์

ในตำราหนึ่งกล่าวว่า มหาเทพธอธได้เสด็จมาช่วยดับแสงอาทิตย์ลงชั่วคราว จนพระเทวีสามารถคืนพระชนม์ชีพแก่พระโอรสได้สำเร็จ

แต่ในอีกตำราหนึ่งกล่าวว่า มหาเทพธอธทรงแนะนำให้พระเทวีไอซิสยอมรับการจากไปชั่วคราว ของมหาเทพโฮรุส เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม พระองค์กจะกลับมาประสูติใหม่ในโลกอีกครั้งหนึ่ง

โดยการจากไปชั่วคราวนี้ วิญญาณของมหาเทพโฮรุสได้เสด็จไปเฝ้าองค์จอมเทพโอสิริสที่ปรโลก จากนั้นจึงเสด็จกลับมาเกิดใหม่ในร่างของ พญานกเบนนู (Bennu)

ซึ่งเมื่อไปเกาะบนยอดเสาของมหาเทวสถานอห่งเ เฮลิโอโปลิส (Heliopolis) ก็จะถูกแสงพระอาทิตย์ของสุริยเทพราแผดเผาจนกลายเป็นขี้เถ้า และจากขี้เถ้านั้น ก็จะกลับฟื้นขึ้นเป็นพญานกเบนนูอีก

ในระหว่างเวลานั้น พระเทวีไอซิสจะต้องทรงทวงสิทธิ์อันชอบธรรม สำหรับราชบัลลังก์ของมหาเทพโฮรุส ก่อนที่พระองค์จะกลับมาประสูติเป็นเทวกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งพระเทวีไอซิสก็ทรงใช้กลลวงหลอกล่อ ให้เทพเซธสัญญาที่จะยกราชบัลลังก์ให้มหาเทพโฮรุส และจะไม่รบกวนพระองค์จนกว่าจะเจริญพระชันษาได้สำเร็จ หลังจากนั้น มหาเทพโฮรุสจึงกลับมาประสูติในร่างของมนุษย์

มหาเทพโฮรุส เจริญพระชันษาขึ้นโดยทรงฝึกฝนการใช้เวทมนต์และอาวุธต่างๆ เพื่อการแก้แค้นแทนพระบิดา เมื่อทรงพร้อมที่จะเข้าสู่สนามรบ พระองค์ได้จัดเตรียมกองทัพใหญ่ โดยมีพระปิตุลา คือ เทพฮาร์มาคิส (Harmakhis) เป็นกำลังสำคัญด้วย

ก่อนออกรบครั้งแรก เทพฮาร์มาคิสเป็นผู้ค้นพบ ดวงตาวัดจัต (Uadjat) ของมหาเทพโฮรุส โดยเมื่อเทพฮาร์มาคิสทรงบริกรรมคาถา พระเนตรของมหาเทพโฮรุสก็เปล่งแสงเจิดจ้ายิ่งกว่าพระอาทิตย์ และจากดวงพระเนตรอันศักดิ์สิทธิ์นั้น เทพฮาร์มาคิสสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

แต่เมื่อเทพเซธรู้ว่า มหาเทพโฮรุสทรงมีดวงตาศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็ได้พยายามทำลายด้วยใช้มนต์ดำ แต่ก็ไม่เป็นผล

จากนั้น มหาเทพโฮรุสทรงนำกองทัพมุ่งสู่อียิปต์ เพื่อติดตามล้างแค้นเทพเซธ ซึ่งในการปะทะกันแต่ละครั้ง พระองค์ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยเทวานุภาพ





ดังเช่นการรบที่ เมมฟิส (Memphis) พระองค์ทรงแปลงร่างเป็นจานสุริยะขนาดใหญ่ มีปีกสีทองเปล่งประกาย ทำให้ทหารของเทพเซธเสียสติ และต่อสู้กันเองจนตายหมด

เมื่อกองทัพของเซธได้รับความปราชัยย่อยยับในทุกแห่ง เทพเซธก็จำต้องออกมาต่อสู้ด้วยพระองค์เอง โดยแปลงร่างเป็นอสุรกายที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง

แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ จนถูกมหาเทพโฮรุสจับล่ามโซ่นำกลับไปยังเทวสภาแห่งเฮลิโอโปลิส

ในเทวสภา สุริยเทพราทรงพิพากษาให้เทพเซธได้รับการลงโทษเสมอกับที่เคยกระทำไว้กับจอมเทพโอสิริสทุกอย่าง

แต่ไม่ทันที่มหาเทพโฮรุส จะบั่นร่างของเทพเซธให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เทพเซธก็แปลงร่างเป็นงูมุดดินหนีหายไป

มหาเทพธอธได้ถวายคำแนะนำว่า เทพเซธในร่างอสรพิษและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่เป็นบริวาร ได้หนีไปถึงเขตทะเลทรายทางใต้ และมหาเทพโฮรุสจะต้องทำสงครามครั้งสุดท้ายที่นั่น เพื่อประกาศความเป็นเทวกษัตริย์อันชอบธรรมของพระองค์

มหาเทพโฮรุส จึงได้นำกองทัพติดตามไปถึงเมือง เอ็ดฟู (Edfu) ที่นั่นเทพเซธได้แปลงร่างเป็นฮิปโปโปเตมัสสีแดงขนาดใหญ่เท่าๆ กับแม่น้ำไนล์รอคอยอยู่

มหาเทพโฮรุสจึงทรงบันดาลให้เกิดน้ำท่วม กวาดเอาเกาะช้างด้านใต้ของเมืองเอ็ดฟูหายไปทั้งเกาะ รวมทั้งกองทัพส่วนใหญ่ของเทพเซธด้วย

จากนั้น พระองค์ก็เนรมิตฉมวกเหล็กยาว 30 ฟุต เข้าต่อสู้กับเทพเซธในร่างพญาช้างน้ำ

การต่อสู้อันรุนแรงปานจะทำให้โลกถล่มทลายได้บังเกิด เทพเซธสามารถควักพระเนตรศักดิ์สิทธิ์ของมหาเทพโฮรุสออกไปได้ข้างหนึ่ง แต่ก็ถูกสังหารด้วยฉมวกเหล็กนั้นจนได้ในที่สุด





ด้วยพระเนตรที่เหลืเพียงข้างเดียว มหาเทพโฮรุสทรงบั่นพระศพของเทพเซธเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปโยนให้ฝูงแมว ตลอดจนสัตว์ที่โหยหิวอื่นๆ กินเป็นอาหาร ท่ามกลางเสียงถวายพระพรของชาวอียิปต์ที่ดังกึกก้อง

ส่วนพระเนตรที่ถูกควักออกไปนั้น มหาเทพธอธได้ทรงคืนแก่มหาเทพโฮรุสในเวลาต่อมา

จากนั้น มหาเทพโฮรุสเสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์อียิปต์ เป็นฟาโรห์องค์ที่ 3 ตามคติโอสิเรียน และเป็นเทวกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ครองโลก

เมื่อเสด็จสวรรคต เหล่าเทพและมนุษย์ได้ร่วมกันจัดพิธีศพ ซึ่งเป็นต้นแบบของพิธีศพของฟาโรห์อียิปต์ทุกองค์




ยมเทพโซการ์ (Sokar) จอมราชันย์แห่งสัมปรายภพ

พระนามของเทพองค์นี้ อาจเขียนแตกต่างกันได้อีกสองสามแบบ เช่น เซเกร์ (Seker) และ โซคาริส (Sokaris)

พระองค์มักปรากฏในรูปของวิญญาณ หรือ บา (Ba) ซึ่งแสดงด้วยรูปนกที่มีศีรษะเป็นคนลอยอยู่เหนือศพ

ทรงมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่หยุดนิ่ง หรือสภาวะแห่งชีวิตหลังความตาย ที่กำลังรอเวลาที่จะไปเกิดใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความมืดมน ปราศจากความเคลื่อนไหว

ยมเทพโซการ์เป็นเทพรุ่นโบราณมากๆ องค์หนึ่งครับ และเป็นเทพแห่งนครเมมฟิส (Memphis) มาแต่เดิม

ณ ที่นั้น ก่อนที่จะเกิดเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา เคยเป็นแหล่งสุสานขนาดใหญ่ ชาวอียิปต์ตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์นิยมนำศพไปฝังกันไว้ที่นั่น และต่างพากันสักการะบูชายมเทพโซการ์ ในฐานะผู้พิทักษ์สุสานแห่งนั้น

แต่ในภายหลัง เมื่อนครเมมฟิสเจริญรุ่งเรืองขึ้น ผู้คนได้หันไปยกย่อง มหาเทพพทาห์ (Ptah) ขึ้นเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดแทน

ส่วนยมเทพโซการ์ ยังคงประทับอยู่ในนครสุสานอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่สักการะบูชาในฐานะนั้นเช่นเดิม

ประติมานวิทยาของยมเทพโซการ์ มีพระเศียรเป็นเหยี่ยวเหมือนกับสุริยเทพรา และ มหาเทพโฮรุส  แต่มักทรงศิราภรณ์เป็นรูปมงกุฎ อาเตฟ (Atef : คือหมวกทรงสูงที่มีปีกสองข้าง แบบเดียวกับจอมเทพโอสิริส) หรือบางที ก็ทรงศิราภรณ์รูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ และอาจมียูรีอุสด้วย

ในภาพเขียนยุคแรกๆ มักแสดงถึงพระองค์ที่กำลังประทับอยู่บนบัลลังก์ ถือสัญลักษณ์แห่งอำนาจ เช่นอังค์และเซ็พเทอร์ บางทีก็ถือตะขอกับแส้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทวกษัตริย์




ต่อมา ในสมัยอาณาจักรใหม่ ประติมานวิทยาของพระองค์ได้เปลี่ยนไปเป็นรูปมัมมี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับพิธีมรณศาสตร์โดยเฉพาะ

และแม้จะทรงเกี่ยวข้องกับรัตติกาล ความมืด การตาย และสุสาน เช่นเดียวกับเทพอนูบิส แต่ในสิ่งที่คล้ายกัน ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันนะครับ

เทพอนูบิสเป็นเทพแห่งพิธีศพ พระองค์คือ สัญลักษณ์ของความตาย ขณะที่ยมเทพโซการ์เป็นเทพแห่งสุสาน หมายถึง ชีวิตหลังความตาย

ที่ประทับของยมเทพโซการ์นั้น เป็นสุสานมาแต่แรก และยังคงเป็นตลอดยุครุ่งเรืองของอียิปต์ จึงเป็นสถานที่ที่มีแต่ความวังเวง เศร้าหมอง และหดหู่ กลางคืนหนาวเย็นจับขั้วหัวใจ ไม่มีผู้คนอยู่ที่นั่นนอกจากเมื่อมีพิธีศพ

พระองค์จึงทรงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่กล่าวมานี้ พระองค์เฝ้ารักษาสถานที่ ซึ่งผู้วายชนม์ทั้งหมดจะถูกนำมาฝัง และทรงปกป้องศพ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของพวกเขา

เพราะในทางมรณศาสตร์ไอยคุปต์ เชื่อกันว่า ถ้าไม่มีการเก็บรักษาศพไว้ วิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น จะไม่สามารถไปเกิดใหม่ได้ครับ

ในฐานะของยมเทพ จึงมีบางลัทธิที่บูชาพระองค์เหมือนกับจอมเทพโอสิริส คือทรงเป็นประธานการพิพากษาวิญญาณผู้วายชนม์ โดยมีเทพอนูบิส กับมหาเทพธอธเป็นผู้ประกอบพิธีการชั่งน้ำหนักหัวใจ เหมือนในหอพิพากษาของจอมเทพโอสิริสทุกประการ

ยมเทพโซการ์ ยังทรงเป็นเทพแห่งการกสิกรรมด้วยครับ

ในเทศกาลบูชาประจำปีสำหรับพระองค์ ซึ่งอยู่ในฤดูหนาว บรรดานักบวชและผู้ศรัทธาพระองค์จะช่วยกันลากเรือที่ประดิษฐานพระเทวรูปของพระองค์ ผ่านทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง เพื่อให้ทรงเปลี่ยนทุ่งหญ้านั้นให้กลับเขียวขจีและอุดมสมบูรณ์

เหตุที่เทพแห่งนครสุสาน ทรงเกี่ยวข้องกับการสร้างชีวิตใหม่เช่นนี้ ก็เพราะชาวอียิปต์คิดว่า ความตายย่อมนำไปสู่ชีวิตใหม่นั่นเอง




อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจอมราชันย์แห่งสวรรค์ โลก และสัมปรายภพ มี่มีสัญลักษณ์เป็นพญาเหยี่ยวเหมือนกันทั้ง 3 องค์  แต่ประติมากรรมเทพไอยคุปต์ ที่ปรากฏในรูปเหยี่ยวทั้งตัว กลับนิยมทำกันแต่มหาเทพโฮรุสเท่านั้น

ที่เป็นสุริยเทพราปรากฏไม่มากนัก และยมเทพโซการ์นั้นไม่ปรากฏเลย

โดยมหาเทพโฮรุส ในรูปของพญาเหยี่ยวทั้งองค์นั้น เดิมเป็นวัตถุมงคลคู่บารมีองค์ฟาโรห์ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ และชัยชนะเหนืออริราชศัตรู

ส่วนมากจะทำด้วยไม้ปิดทองลงยา และโลหะขนาดตั้งโต๊ะ จนถึงหินแกะสลักขนาดใหญ่ไว้ภายในภายนอกเทวสถาน สำหรับให้ประชาชนสักการบูชาแทนพระองค์

แม้ว่าโดยหลักการแล้ว เทวประติมากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ จะยังคงนับเป็นเครื่องรางมากกว่าเทวรูป เพราะไม่อาจรองรับการบูชาได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเทวรูปจริงๆ ก็ตาม

ปัจจุบัน ได้มีการนำมาทำเป็นศิลปวัตถุ เลียนแบบของโบราณ (Replica) และได้รับความนิยมในระดับสูงมากครับ

ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเรซิน แต่ถ้ามีความประณีตเพียงพอ ก็จะมีพลังในตัวเองอยู่ระดับหนึ่ง ในการสลายพลังชั่วร้าย ชนะศัตรู และตั้งบูชาระหว่างการเดินทาง เพื่อป้องกัน-แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุได้

และถ้าได้รับการการเทวาภิเษก (Consecration) ที่ถูกต้อง ตามหลักเทวศาสตร์ไอยคุปต์ อานุภาพดังกล่าวมานี้ก็จะสมบูรณ์ และยั่งยืน

เมื่อเสกแล้ว การบูชาก็ไม่ยากอะไรเ เพียงแต่ต้องจัดวางในลักษณะที่เรียบร้อย สง่างาม ไม่ใช่วางเล่นๆ หรือนึกจะวางตรงไหนก็วาง และต้องไม่อยู่ใกล้พระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิศาสนาอื่น

จากนั้น ถ้าเป็นขนาดเล็กพอจะตั้งหน้ารถได้ ก็หันหน้าท่านเข้ามาในรถ เบื้องหน้าท่าน วางถ้วยเล็กๆ สำหรับใส่กำยาน แก้มนวล 1 ดอก ถวายเครื่องหอมด้วยการหยดน้ำมันหอมระเหย Egypt Blend ของ Mystica (ดู http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/06/mystica.htmlใส่กำยานดอกนั้น แล้วสวดคาถาบูชา 1 จบ ก่อนจะขับรถออกจากบ้าน

ถ้าเป็นองค์ใหญ่ ตั้งไว้บนแท่นบูชาในบ้าน ก็ถวายน้ำ ถวายดอกไท้ เผากำยาน แก้มนวล 1 ดอก ถวายเครื่องหอมด้วยการหยดน้ำมันหอมระเหย Egypt Blend ใน Burner เช้า-ก่อนนอน ทุกวัน เท่านั้น

...................................

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เครื่องรางไอยคุปต์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*






เครื่องรางของชาวอียปต์โบราณ คือการนำเอาสัญลักษณ์มงคลต่างๆ มาทำด้วยไม้ หินมึค่า รัตนชาติ และโลหะที่มีราคาสูง

สัญลักษณ์มงคลเหล่านี้ มีต้นกำเนิดมาจากการเลียนแบบ และดัดแปลงจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชวติ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือสภาพทางภูมิศาสตร์

เมื่อสิ่งเหล่านั้นถูกนำไปใช้กับองค์เทพเทวีต่างๆ ในทางประติมานวิทยา (Iconography) ชาวอียิปต์ก็จะนำไปใช้ประดับตกแต่ง ตั้งแต่เครื่องมือเครื่องใช้ทางศาสนา จนถึงของแต่งตัว เช่น กล่องใส่กระจก กล่องใส่เครื่องประดับ

เหตุที่เอาสัญลักษณ์ขององค์เทพ มาตกแต่งเครื่องใช้ที่ดูเหมือนเป็นของสามัญธรรมดาเช่นนี้ ก็เพราะในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้มิใช่ของสามัญ ที่มีใช้กันทั่วไปในอียิปต์ครับ

หากแต่เป็นของสำหรับคนชั้นสูง โดยเฉพาะราชนิกูล หรือพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น คนธรรมดาไม่สามารถจะหามาใช้ได้ เรียกว่าเป็นเครื่องแบ่งชนชั้นวรรณะกันได้อย่างหนึ่งทีเดียว

คนอียิปต์ กับคนอินเดีย คนจีน และคนไทยนั้น ดูจะมีทัศนคติที่เหมือนกัน ในเรื่องของความเป็นมงคลครับ

กล่าวคือ ถ้าใครก็ตาม มีชีวิตประจำวันที่ได้ใกล้ชิดสัมผัสกับสิ่งมงคลอย่างสม่ำเสมอ สิ่งมงคลเหล่านั้นย่อมมีอำนาจเร้นลับ ช่วยเกื้อหนุนดวงชะตาของคนผู้นั้นให้เจริญรุ่งเรือง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สามารถบรรเทาเคราะห์กรรมและขจัดโชคร้าย

อย่างไรก็ตาม โลกของมายาศาสตร์ไอยคุปต์นั้น มักมีกาใช้ปะปนกันอยู่เสมอ ทึ้งสัญลักษณ์มงคล วัตถุมงคล เครื่องราง และเครื่องมือเครื่องใช้ใบการประกอบพิธีกรรม

ในบทความนี้จะนำเสนอเฉพาะวัตถุมงคลและเครื่องราง (Amulet & Talisman) เท่านั้น โดยเรียงตามพยัญชนะในภาษาอังกฤษ





Aegis : อีจิส 

ลักษณะโดยทั่วไปเป็นแผ่นครึ่งวงกลม บริเวณกึ่งกลางด้านบนมักทำเป็นพระเศียรของเทพเจ้าต่างๆ

เท่าที่ค้นพบแล้วมีพระเศียรของพระเทวีไอซิส มหาเทวีฮาเธอร์ มหาเทพโฮรุส สุริยเทพรา เทวีเซ็คเมต ทพชู และ เทวีเตฟนุต (Shu & Tefnut) เป็นต้น

พระเศียรขององค์เทพเหล่านี้ มักจะทำให้เห็นพระพักตร์ด้านหน้าเหมือนกันหมดครับ

ส่วนที่เป็นแผ่นครึ่งวงกลม ก็สลักลายด้านหน้าเป็นสัญลักษณ์มงคลต่างๆ เป็นชั้นๆ ไปตลอด เป็นการเลียนแบบกรองศอของเทวรูปนั่นเอง

ในทางมายาศาสตร์อียิปต์ อีจิสเป็นเครื่องรางประเภทคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้าย มีทั้งแบบที่ใช้ประดับหน้าอก หรือ ทับทรวง (Pectoral),ใช้ถือในมือ และแบบที่มีแกนสำหรับเสียบไม้เท้าสำหรับประกอบพิธีกรรม ทั้งสามแบบนี้มีขนาดใหญ่พอๆ กัน

นอกจากนี้ ก็มักจะใช้ตกแต่งบนเทวรูปเทพที่มีพระเศียรเป็นรูปสัตว์ เช่น เทวรูปแมวของเทวีบาสเต็ต เป็นต้น อย่างหลังนี้มักมีความยาวราวๆ 4-6 นิ้ว

ชาวอียิปต์โบราณยังสร้างอีจิสที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก เพื่อสำใช้ตกแต่งหัวเรือศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่ขนาดย่อม จนถึงขนาดเท่าเรือที่ใช้กันจริงๆ สำหรับใช้ในพิธีกรรม

ในบรรดาอีจิสทั้งหลาย อีจิสของพระเทวีไอซิสนั้น เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งในวงการมายาศาสตร์ไอยคุปต์ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้ว เราได้ค้นพบอีจิสที่แน่ใจได้ว่าเป็นของพระเทวีไอซิสจริงๆ น้อยมากครับ ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันนั้น ก็เป็นเพราะเข้าใจผิดกันมาตลอด

กล่าวคือ โดยมากแล้วเป็นอีจิสของมหาเทวีฮาเธอร์ มิใช่พระเทวีไอซิสครับ

นั่นก็เป็นเพราะ อีจิสของเทพนารีทั้งสององค์นี้ มักจะมีรูปแบบที่เหมือนกัน จนไม่อาจแยกออกจากกันได้หรอกครับ ถ้าหากไม่มีเครื่องบ่งชี้ คือ อักษรพระนาม ปรากฏอยู่

อย่างไรก็ตาม ในเมื่ออีจิสของมหาเทวีฮาเธอร์เป็นที่รู้จักกันมากและถูกเข้าใจผิดมาตลอดดังกล่าว จึงมีการนำรูปแบบอีจิสเหล่านั้นมาจำลองขึ้น และซื้อขายกันในฐานะอีจิสของพระเทวีไอซิสอยู่เสมอ ในโลกตะวันตก




Ankh : อังค์


เป็นเครื่องรางที่เก่าแก่ และทรงอำนาจมากที่สุด รวมทั้งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายที่สุด ตลอดยุคประวัติศาสตร์อียิปต์ครับ   

ในอักษรภาพไฮโรกลิฟส์ (Hieroglyphs) อังค์หมายถึงชีวิต การดำรงชีวิต และความเป็นอมตะ ทั้งในโลกนี้และปรโลก 

อังค์เป็นลมหายใจของชีวิต เมื่อประกอบกับน้ำ หมายถึงสายน้ำที่มอบชีวิตใหม่ให้ 

ด้วยเหตุนี้ อังค์จึงเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพดี ความมีอายุยืน และหมายรวมถึงกามารมณ์ที่ถูกต้องด้วยครับ 

รูปลักษณ์ของอังค์ มาจากเครื่องหมายของชายและหญิง จึงแสดงนัยยะถึงการอยู่ร่วมกัน ของพลังอำนาจแห่งสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม ตามหลักทวิภาวะ (Dualism) ซึ่งถ้าเปรียบกับจีน ก็คือ หยิน-หยาง นั่นเอง  

นอกจากนี้ อังค์ย่อมหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อังค์นำมาซึ่งชีวิตที่ดี เพียบพร้อม มีทุกสิ่งอย่างพอเพียง ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม สิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต 

อังค์เป็นความสมบูรณ์แบบ แสดงถึงการมีโชคลาภ และทรัพย์สินเงินทอง รวมความแล้ว หมายถึงทุกอย่างที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์  

รูปแบบของอังค์ นอกจากจะถูกนำไปสร้างเป็นเครื่องรางแล้ว ยังได้ใช้ทำเป็นเครื่องราชูปโภคต่างๆ ด้วยนะครับ

เช่น กล่องกระจกส่องหน้าหุ้มทอง ซึ่งทำเป็นรูปอังค์ จากสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอังค์ที่สวยที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก 

เป็นทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีลักษณะเป็นมงคล และยังเป็นภูมิปัญญาของช่างผู้ประดิษฐ์ด้วย

เพราะคำว่า กระจก ในภาษาอียิปต์โบราณนั้นก็ออกเสียงว่า อังค์ เช่นกันครับ                  

นอกจากนี้ แม้แต่ช้อนก็พบบ่อยๆ ที่จะทำเป็นรูปอังค์ ในการประกอบพิธีกรรม เครื่องให้จังหวะเช่น ซิสทรัม (Sistrum) นั้น ก็มักจะทำเป็นรูปอังค์ 







Bastet Cat : วิฬาร์เทวี บาสเต็ต

ชาวอียิปต์โบราณนับถือกันในฐานะ ผู้สังหาร พญางูอโปฟิส (Apophis) ซึ่งเป็นศัตรูของสุริยเทพรา จึงเป็นสื่อของพลังที่ขจัดความชั่วร้ายด้วยความเด็ดขาดและรวดเร็ว 

และเนื่องจากทรงเป็นเหมือนพระเนตรของสุริยเทพราในยามรัตติกาล จึงเป็นทั้งผู้คุ้มครองที่ประทานความอบอุ่น และความปลอดภัยในเวลากลางคืน พลังของความเป็นแมว ยังช่วยให้ผู้เจ็บป่วยฟื้นตัวจากโรคที่เป็นอยู่  หรือได้รับการรักษาที่ดีอีกด้วย
 
แต่การที่เครื่องรางชนิดนี้ ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ก็เพราะนอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบของคนรักแมวแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสุข และความปีติยินดี การใช้เครื่องรางนี้จะทำให้จิตใจสดใสร่าเริง กระฉับกระเฉง มองโลกในแง่บวก และดำเนินชีวิตได้อย่างสุขสบาย นอกจากนี้ยังทำให้มีเสน่ห์เพิ่มขึ้น

และถ้าเป็นขนาดตั้งโต๊ะ ที่ทำเลียนแบบของโบราณ (Replica) ยิ่งเหมือนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีพลังที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความมีชีวิตชีวาในสถานที่นั้นๆ แม้จะยังไม่ได้ผ่านการปลุกเสกก็ตาม  





Djed : เจ๊ด

บางครั้งรียกว่า Djedwy เครื่องรางรูปกระดูกสันหลัง เป็นสัญลักณ์สำคัญของ มหาเทพพทาห์ เทพแห่งการสร้างสรรค์และช่างฝีมือ และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์นคร เมมฟิส (Memphis)

พระองค์ทรงผูกพันกับแกนกลาง และโครงสร้างของสรรพสิ่ง ทั้งร่างกายมนุษย์ และโครงสร้างของอาคาร เครื่องรางชนืดนี้จึงมึอานุภาพกั่ยวเนื่องกับสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด และนำความมั่นคงมาให้ ทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

จากรูปวาดและประติมากรรมต่างๆ มหาเทพพทาห์มักทรงถือเครื่องรางนี้ รวมกับ วาซเซ็พเทอร์ (Was Sceptre และอังค์  

ในนิกายโอสิเรียน เจ๊ดถูกเรียกว่า เสาแห่งจอมเทพโอสิริส (The Pillar of Osiris) ฃึ่งกล่าวไว้ว่าจะมอบพลังแห่งความเป็นอมตะ แต่ที่จริงก็เป็นการยาก ที่จะเห็นเครื่องรางนี้ปรากฏร่วมกับจอมเทพโอสิริส อย่างที่เห็นอยู่เสมอกับมหาเทพพทาห์

เมื่อหลายปีมาแล้ว คลีนิครักษาโรคด้วยการจัดกระดูก (Chiropractic) แห่งหนึ่งขอให้ผมเป็นที่ปรึกษาในการออกยย Logo ให้ ผมแนะนำให้ใช้รูปลักษณ์ของเจ๊ด ปรากฏว่า กิจการของคลึนิกดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดึมาจนทุกวันนี้

แสดงว่า ศาสตร์แห่งเครื่องรางไอยคุปต์ ก็ยังคงความขลังอย่างที่ไม่มีกาลเวลามาขีดคั่นนะครับ




Hathor Face : พระพักตร์ฮาเธอร์

สัญลักษณ์มงคล รูปแบบหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดของมหาเทวีฮาเธอร์ คือ รูปพระพักตร์ในลักษณะหันหน้าตรง โดยเป็นการผสมผสานระหว่างใบหน้าสตรี กับรูปหน้าวัวครับ

กล่าวคือ เป็นพระพักตร์ซึ่งดูแบน กว้าง และราบเรียบ มีพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ และพระเกศาแบบมนุษย์ แต่พระกรรณเป็นแบบใบหูของวัว

เครื่องรางที่มีรูปลักษณ์เช่นนี้ ถือกันว่า เป็นสื่อพลังของมหาเทวีฮาเธอร์ในทุกๆ ด้าน โตยเฉพาะพลังแห่งคสามอุดมสมบูรณ์ และเมตามหานิยม ตั้งแต่ความมีเสน่ห์ในระดับทั่วไป จนถึงการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รัก 

สัญลักษณ์มงคลนี้ จะเห็นได้มากที่สุดในทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรม เช่นใช้ประกอบเป็นลายหัวเสาชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า Hathoric Column

นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ตกแต่งเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ อีกด้วย เช่นทำไว้ประกอบส่วนที่เป็นด้ามจับของกระจกสำริด เพื่อให้ผู้ใช้กระจกนั้นมีเสน่ห์ และเป็นที่รักของ์นทั่วไป






Heket Frog : เฮเกต

เครื่องรางนี้คือสัญลักณ์ของเทวีชื่อเดียวกัน ซึ่งในศิลปะอียิปต์มักจะเขียนเป็นรูปผู้หญิงที่มีหัวเป็นกบ

พระนางทรงเป็นเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ กล่าวกันว่าทรงเป็นเทพธิดาผู้อ่อนหวาน ใจดีมาก และนำความปลอดภัยมาให้

เครื่องรางที่ทำเป็นรูปกบ โดยมีอักษรพระนามของเทวีองค์นี้กำกับอยู่ จึงเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่ควบคุมการท่วมของแม่น้ำไนล์ให้เป็นไปดามวัฏจักร

ชาวอียิปต์โบราณยังใช้เครื่องรางนี้ในการรักษาโรค โดยวางลงบนหน้าผาก และกลางหน้าอกของคนป่วยที่กำลังมีไข้สูง พร้อมกับสาธยายมนต์ของเทวีเฮเกตซ้ำกันหลายๆ ครั้ง ก็จะช่วยถอนพิษไข้ได้

ผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ ก็สามารถใช้เครื่องรางฃนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกคนแรกหรือไม่ก็ตาม การใช้เครื่องรางนี้คู่กับ เท็ต (Tet) ยังสามารถช่วยให้คลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย


ว่ากันว่า การทำเครื่องรางนี้ให้มีขนาดเท่ากบจริงๆ ตั้งไว้ในบ้านที่ห่างจากแหล่งน้ำ ยังช่วยบรรเทาอากาศร้อนอบอ้าวจากภายนอก เพราะกบเป็นสัตว์ที่มีร่างกายเย็นเสมอ





Horus Falcon : พญาเหยี่ยวโฮรุส
 
เป็นวัตถุมงคลคู่บารมีองค์ฟาโรห์ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ และชัยชนะเหนืออริราชศัตรู

โดยที่เห็นกันส่วนมาก จะสร้างเป็นประติมากรรมตั้งแต่ที่ทำด้วยไม้ปิดทองลงยา และโลหะขนาดตั้งโต๊ะ จนถึงหินแกะสลักขนาดใหญ่ไว้ภายในภายนอกเทวสถาน สำหรับให้ประชาชนสักการบูชาแทนพระองค์

แม้ว่าโดยหลักการแล้ว เทวประติมากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ จะนับเป็นเครื่องรางมากกว่าเทวรูป เพราะไม่อาจรองรับการบูชาได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเทวรูปจริงๆ ก็ตาม

ปัจจุบัน ได้มีการนำมาทำเป็นศิลปวัตถุเลียนแบบของโบราณ และได้รับความนิยมในระดับสูงมากครับ

ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเรซิน แต่ถ้ามีความประณีตเพียงพอ ก็จะมีพลังในตัวเองอยู่ระดับหนึ่ง ในการสลายพลังชั่วร้าย ชนะศัตรู และตั้งบูชาระหว่างการเดินทาง เพื่อป้องกัน-แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุได้


และถ้าได้รับการการเทวาภิเษกที่ถูกต้อง ตามหลักเทวศาสตร์ไอยคุปต์ อานุภาพดังกล่าวมานี้ก็จะสมบูรณ์ และยั่งยืน







Ichneumon: อิคนูมอน

สัตว์ชนิดนี้มักถูกเรียกว่า พังพอนไอยคุปต์ หรือ แมวของฟาโรห์

โดยชื่อที่นิยมเรียกกันนี้ มาจากภาษากรีกว่า อิคเนมอน (Ιχνεύμων) ขณะที่ชื่อในภาษาอียิปต์โบราณของมันคือ Ad, Hetjez และ Xatrw

เป็นสัตว์ที่ปราดเปรียวมากครับ อาชีพหลักของมันคือเดินหากินอยู่ตามชายน้ำ เพื่อลักไข่จระเข้

อิคนูมอนเป็นสัตว์สังคม มักทำรังอยู่ตามเนินดินใกล้ๆ กัน และชอบยืนสองขาอยู่บริเวณรังเป็นกลุ่ม เพื่อสอดส่องระวังภัย เป็นพฤติกรรมที่คุ้นตาชาวบ้านอียิปต์ ที่ทำมาหากินอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์

อากัปกิริยาที่ยืนตัวตรง สองขาหน้ายกขึ้นเสมออกนี่แหละครับ ทำให้มันถูกเปรียบเทียบว่า กำลังถวายความเคารพองค์สุริยเทพ

ชาวอียิปต์จึงนำมาสร้างเป็นประติมากรรมดินเผา และหินแกะสลัก ในลักษณะยืนตัวตรง สองขาหน้ายกขึ้นเป็นท่าแสดงการบูชาองค์สุริยเทพ เหนือหัวมีแผ่นจานสุริยะและยูรีอุส โดยไม่มีศิราภรณ์ ประดิษฐานไว้ในสุสานต่างๆ

แต่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปแล้ว จะมีการกราบไหว้บูชากันหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันนะครับ

เพราะที่ปรากฏในสุสานนั้น มักเป็นประติมากรรมขนาดตั้งโต๊ะ และยังไม่เคยพบที่ทำเป็นเครื่องรางสำหรับพกติดตัวด้วย

จึงเชื่อกันว่า สัตว์มงคลชนิดนี้อาจถูกใช้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น

อานุภาพของเครื่องรางอิคนูมอน ว่ากันว่า เด่นในเรื่องของความมั่นคง และสันติสุข เป็นสัญลักษณ์ว่าชีวิตจะหาความมืดมนตกต่ำมิได้ เพราะได้รับแสงสว่าง (คือสุริยเทพรา) อยู่เสมอครับ

ปัจจุบันมีเครื่องรางอิคนูมอนขนาดเล็ก ปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ตามร้านขายหัตถกรรมเลียนแบบวัตถุโบราณในกรุงไคโร





Ma’at ‘s Feather : ขนนกของเทวีมาอัต

เทวีองค์นี้ทรงได้รับการบูชาได้รับการเคารพบูชาในฐานะผู้อุปถัมภ์ความกลมกลืน ความยุติธรรม และความจริง

ในศิลปะอียิปต์โบราณ ที่แสดงถีงหอแห่งการพิพากษาของจอมเทพโอสิริส บางครั้งจะเห็นเทพนารีองค์นี้ประทับอยู่เบื้องหลังมหาเทพธอธ เป็นองค์พยานในการชั่งน้ำหนักหัวใจผู้ตายเทียบกับขนนก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะตัดสินว่า ผู้ตายจะได้ไปเกิด หรือจะต้องรับการลงทัณฑ์

หากหัวใจของผู้วายชนม์เบากว่าขนนก แสดงว่าผู้วายชนม์นั้นเป็นผู้ประกอบกรรมดี วิญญาณของเขาจะได้ไปสู่เทวโลก เพื่อรอการเกิดใหม่

หากหัวใจของผู้วายชนม์หนักกว่าขนนก แสดงว่าเขาเป็นผู้ประกอบกรรมชั่ว วิญญาณของเขาจะถูกอสุรกายชื่อ อัมมุต (Ammut) กัดกิน        

เครื่องรางรูปขนนกของเทวีมาอัต ถูกค้นพบไม่มากนัก มันสามารถใช้กับคนที่อุทิศชีวิต เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมและความชั่วร้าย แต่เครื่องรางนี้ก็จะปกป้องคนที่ยึดถิอความจริงเท่านั้น




Menat : เมนัต

มีต้นกำเนิดมาจากลัทธิบูชาอวัยวะเพศชาย ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ฃึ่งพบได้ในแทบทุกอารยธรรมทั่วโลก

แต่อียิปต์ได้ดัดแปลงจนเหลือเค้าเดิมเพียงเล็กน้อย และแทนที่จะเกี่ยวข้องกับเทวบุรุษ ก็กลับกลายเป็นเครื่องรางของมหาเทวีฮาเธอร์ ฃึ่งก็หมายความว่า ยังคงผูกพันกับเรื่องของความอุดมสมบูรณ์อยู่นั่นเอง

เครื่องรางนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของพลังทางเพศ ฃึ่งจะต้องใช้กับสร้อยคอ โดยชนชั่นสูงของอียิปต์จะสวมใส่มันในชีวิตประจำวัน

การใช้ในทางปฏิบัติก็คือ การรักษา หรือฟื้นฟูกลไกทางธรรมชาติของการสืบพันธุ์ มันจึงนำมซึ่งความสามารถ และความปรารถนาที่จะมีเพศสัมพันธ์

และสำหรับคนที่บูชามหาเทวีฮาเธอร์ เครื่องรางนี้ยังสามารถเพิ่มพลังเสน่ห์ และเมตตามหานิยมในระดับทั่วๆ ไป ทั้งยังส่งผลดีเป็นพิเศษ กับผู้หญิงที่ประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง และศิลปะการแสดงทุกชนิด




Scarab : สคาแร็บ

เป็นเครื่องรางที่ได้รับความนิยมสูงสุดชนิดหนึ่ง รูปแบบของมันมาจากด้วงมูลสัตว์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Scarabaeus sacer 
          
เครื่องรางสคาแร็บ มักทำด้วยหินมีค่า แก้ว หรืออัญมณีที่สลักเป็นรูปตัวด้วงมูลสัตว์ ฝังไว้ในเรือนทองคำที่ทำเป็นรูปขาทั้ง 6 ข้าง หรือบางทีอาจมีเพียง 4 ข้างเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่ และมิได้แกะสลักจากหินที่มีค่ามากนัก ก็อาจแกะสลักขาทั้ง 6 ข้างแนบลำตัว

รูปแบบที่นิยมกันคือรูปสคาแร็บที่มีปีกนก 2 ข้าง ทั้งแบบปีกเหยี่ยว และปีกปบบนกแร้ง มักใช้ประกอบเครื่องถนิมพิมภาภรณ์หรือทำเป็นเครื่องรางเดี่ยวๆ วางบนหน้าอกของมัมมี่ เพื่อพิทักษ์หัวใจของผู้ตายซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องนำไปชั่งน้ำหนักกันในหอพิพากษาของจอมเทพโอสิริส       

สคาแร็บมีชื่อเรียกในภาษาอียิปต์โบราณว่า เคเปรา (Khepera) และเกี่ยวข้องกับองค์เทพ เคปรี (Khepri) ซึ่งปรากฏพระองค์ในลักษณะเทพเจ้าที่ประทับนั่งบนบัลลังก์ ส่วนที่เป็นพระเศียรนั้นแทนด้วยรูปสคาแร็บ ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวในศิลปะอียิปต์โบราณที่จะถูกวาดเป็นรูปด้านตรง (คือมองจากด้านหลัง) เสมอ


ในการเทวาภิเษกเทวรูป และเครื่องรางไอยคุปต์ สคาแร็บถูกใช้เป็นเตรื่องรางสำหรับประสานธาตุทั้ง 4 จึงมักมีการนำมาใช้รักษาโรค และการพกพาเครื่องรางนี้ไว้ใกล้ๆ กับหัวใจก็จะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดี






Sesen : ดอกบัว

เป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีความเกี่ยวข้องกับสุริยเทพรา โดยกล่าวกันว่า เมื่อสุริยเทพราปรากฏพระองค์ขึ้นครั้งแรกในโลก ก็ทรงใช้รูปลักษณ์ของดอกบัว 

ชาวอียิปต์มองว่า ดอกบัวเป็นสิ่งแรกที่บูชาพระอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นขอบฟ้า ถือเป็นสิริมงคลอันสูงสุดในศาสนาอียิปต์ ที่ให้ความสำคัญแก่ดวงสุริยะ ในฐานะผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต
                  
เพราะเหตุนี้ละครับ พวกเขาจึงนำดอกบัวมาตกแต่งสถาปัตยกรรม ทั้งโดยทางภาพเขียน และภาพแกะสลัก เช่นทำเป็นหัวเสาหลากหลายรูปแบบ นับเป็นเครื่องประกอบสถาปัตยกรรมที่มากด้วยลีลาความคิดอย่างยิ่ง
         
เทวรูปเทพองค์สำคัญทั้งหมดในศาสนาอียิปต์นั้น  มีคฑาที่เป็นเทพศาสตราวุธสำคัญอยู่ 2 แบบ  คือ วาซ  เซ็พเทอร์ (Was Sceptre) และคฑาที่มีหัวเป็นรูปดอกบัว


การบูชาเครื่องรางรูปดอกบัว จะนำมาซึ่งความสามารถในการเข้าถึงเทวะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด บังเกิดปรีชาญาณ และความรู้แจ้ง ข้ามพ้นอวิชชาทุกประการ





Sistrum : ซิสทรัม

หรือ ซิสทรา (Sistra) เป็นเครื่องประกอบจังหวะ (Percussion) ชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในพิธีกรรมของชาวอียิปต์โบราณ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระเทวีไอซิส มหาเทวีฮาเธอร์ และเทวีบาสเต็ต

มหาเทวีฮาเธอร์ ทรงมีซิสทรัมเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ เพราะทรงเป็นมารดาแห่งพิธีกรรมในสายของสุริยเทพรา

ในขณะที่แม้แต่พระเทวีไอซิส ซึ่งเป็นมารดาแห่งเทวศาสตร์ในสายโอสิเรียน เมื่ออยู่ในภาพวาดหรือภาพแกะสลักที่สื่อความหมายว่าเป็นมารดาแห่งพิธีกรรม ก็จะทรงถือซิสทรัมเช่นกัน

การใช้ซิสทรัมขนาดเล็ก ในฐานะเครื่องรางแบบห้อยคอ จนถึงขนาดเท่าจริง สำหรับตั้งไว้ในแท่นบูชาของพระเทวีไอซิส มหาเทวีฮาเธอร์ และเทวีบาสเต็ต จึงทำให้เกิดพลังที่เชื่อมโยงกับเทพนารีทั้งสามมากขึ้น  




Tyet : เท็ต

เครื่องรางแห่งการผูกรัด เรียกอีกอย่างว่า Knot of Isis หรือบางทีก็เรียกว่า Isis’s Tit

มันผูกพันโดยตรง กับคาถาอัญเชิญพระโลหิตของพระเทวีไอซิส เพื่อทำลายโรคและความไม่สมดุลย์ของระบบเลือด โรคเกี่ยวกับอวัยวะเพศ และโรคภายในของผู้หญิง

สัญลักษณ์นี้มีลักษณะคล้ายอังค์กลับหัว เมื่อทำเป็นเครื่องรางนิยมทำด้วยหินสีแดงเสมอ เพราะเกี่ยวข้องกับเลือดนั่นเอง

ในโลกแห่งความตาย เชื่อกันว่าสิ่งนี้จะช่วยให้คนตายเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของการเดินทางหลังความตายได้อย่างสะดวกราบรื่น จึงเป็นเครื่องรางอีกชนิดหนึ้งที่มักจะพบในมัมมี่ของผู้เสียชีวิต
         



Uadjat : ดวงตาวัดจัต

คือพระเนตรของ มหาเทพโฮรุส (Horus) ที่ถูก เทพเซธ (Seth) ควักออกในสมรภูมิเมือง เอ็ดฟู (Edfu)

ซึ่งจบลงด้วยความพินาศย่อยยับของกองทัพฝ่ายเซธ และ มหาเทพธอธ (Thoth) ได้ทรงใช้เวทมนต์คืนดวงพระเนตรนี้แก่มหาเทพโฮรุสในเวลาต่อมา

เทวศาสตร์ไอยคุปต์ สร้างเครื่องรางวัดจัต เพื่อคุ้มครองผู้ใช้ให้ปลอดจากภยันตรายในการเดินทาง รวมทั้งสามารถทำลายสิ่งอัปมงคล ปิศาจ และพลังอันชั่วร้ายต่างๆ

ลักษณะของดวงตาที่เบิกขึ้น แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้มองเห็นทุกสิ่งอย่างแจ่มชัด เป็นพลังแห่งแสงสว่างซึ่งได้มาจากมหาเทพโฮรุสซึ่งทรงเป็นสุริยเทพองค์หนึ่ง

ใน คัมภีร์สำหรับผู้วายชนม์ (Book of the Dead) กล่าวว่า ดวงตาวัดจัตคือผู้นำทางวิญญาณของผู้วายชนม์ไปสู่ปรโลกด้วยความปลอดภัย แสดงให้เห็นอำนาจการคุ้มครองทั้งผู้มีชีวิตอยู่และผู้ที่ตายไปแล้ว

ในภาพเขียนผนังภายในสุสานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องทางมรณศาสตร์ มักจะมีการเขียนดวงตาวัดจัตไว้เหนือรูปดวงวิญญาณผู้ตาย เพื่อให้คุ้มครองดวงวิญญาณดังกล่าว

นอกจากนี้ เครื่องรางวัดจัตยังใช้ผนึกไว้เหนือรอยผ่าตรงช่องท้องของมัมมี่ ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่เทพเจ้ารักษาอยู่ด้วย




Uraeus : ยูรีอุส

เป็นทั้งเครื่องรางที่ทรงอานุภาพที่สุด และอันตรายอย่างยิ่งแม้ต่อเทพเจ้า ซึ่งสุริยเทพราทรงเก็บไว้ในกล่องทองคำใบหนึ่ง   

เมื่อ เทพเก๊บ (Geb) ผู้รักษาแผ่นดินโลก เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นเทวกษัตริย์องค์ที่ 3 ต่อจากเทพชู พระองค์ทรงเปิดกล่องนี้เปลวเพลิงอันเกิดจากลมหายใจของยูรีอุส ก็เผาผลาญพระสหายของพระองค์ตายหมด และพระองค์เองก็ถูกแผดเผาอย่างแรงด้วย         

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเทพเก๊บ แสดงถึงพลังอันรุนแรงของพญางูศักดิ์สิทธิ์  ผู้มีลมหายใจเป็นเปลวเพลิง 

พญางูเป็นสัญลักษณ์ของไฟ เป็นได้ทั้งผู้อารักขาและผู้ทำลาย  รวมทั้งเครื่องมือที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่

พระเทวีไอซิส เป็นผู้ทรงเนรมิตพญางูตัวแรกขึ้นในโลก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่แม้แต่พระเป็นเจ้าผู้สร้างโลกยังไม่รู้จัก พิษของพญางูเป็นสิ่งที่อยู่เหนือพลังอำนาจของเทพเจ้าทั้งปวง แม้แต่สุริยเทพรา 

และด้วยพิษร้ายนั้น องค์สุริยเทพจำต้องละจากทิพยฐานะของพระองค์ ในฐานะเทวกษัตริย์แห่งโลก แล้วเสด็จไปสู่สวรรค์ 

ยูรีอุสที่เป็นเครื่องรางของอียิปต์นั้น มีความสืบเนื่องมาจาก พญางูเอ็ดโจ (Edjo) หรือ บูโต (Buto)

นางพญางูศักดิ์สิทธิ์นี้ ได้รับการคารพบูชาอยู่ทั่วไปตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ที่รู้จักกันมากปรากฏในรูปลักษณะของงูเห่าที่กำลังชูคอแผ่แม่เบี้ยและพ่นไฟ        

พระนาประทับอยู่เหนือพระนลาฏขององค์สุริยเทพ เพื่อถวายการอารักขา  เช่นเดียวกับที่ได้ถวายการปกป้องคุ้มครองยุวเทพโฮรุส  ขณะที่ประทับอยู่ที่เกาะเชมมิสอย่างมีประสิทธิภาพ 

ยูรีอุสจึงเป็นส่วนหนึ่งของศิราภรณ์แห่งกษัตริย์อียิปต์ ด้วยความเชื่อว่าอำนาจของเครื่องรางนี้จะปกป้ององค์ฟาโรห์จากภยันตรายต่างๆ 

ในขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มพลังอำนาจขององค์ฟาโรห์  นำมาซึ่งอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้เป็นศัตรู และเป็นเครื่องแสดงอำนาจในฐานะเทวกษัตริย์แห่งโลกนี้ของพระองค์  ศิราภรณ์ที่ประดับรูปยูรีอุสแสดงถึงการเป็นเทวกษัตริย์ที่ถูกต้อง 

ในสุสานของฟาโรห์แต่โบราณ มักมีคำสาปแช่งบทหนึ่งกล่าวถึงลมหายใจของยูรีอุสที่จะทำลายผู้ละเมิดต่อฟาโรห์

เชื่อกันว่า พลังอำนาจในการทำลายนี้ได้คร่าชีวิตคนจริงๆ เป็นจำนวนกว่า 20 ศพ ทั้งหมดเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเปิดสุสานฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก คือ ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen)  

เมื่อกองทัพโรมัน สามารถเอาชนะกองทัพผสมโรมัน-อียิปต์ ในปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล พระราชินีคลีโอพัตรา (Cleopatra)  ผู้ปกครองอียิปต์องค์สุดท้าย ทรงเลือกใช้งูพิษในการทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อให้การเสด็จสวรรคตของพระนางเป็นการกระทำที่ศักดิ์สิทธิ์






Winged Isis : พระเทวีไอซิสกางปีก

มีทั้งแบบห้อยคอ และขนาดบูชา ซึ่งอย่างหลังก็ยังคงจัดเป็นเครื่องรางมากกว่าเทวรูป โดยจะมีทั้ง ปีกแบบเหยี่ยว (Falcon Wing) และ แบบพญาแร้ง (Vulture Wing)

ข้อแตกต่างคือ ปีกเหยี่ยวมีความโค้งมากกว่า ดูแล้วคล้ายๆ ปีก พญาครุฑ ของไทยเรา ส่วนปีกพญาแร้งสยายยาว สันปีกเป็นเส้นตรง

ปีกทั้งสองชนิดนี้ อาศัยลำพระกรขององค์เทวีเป็นสันปีก ส่วนที่เหลือยาวออกจากพระดรรชนีไปจรดปลายปีก ขนปีกแผ่ไปทางด้านใต้ของพระหัตถ์และพระกร

เครื่องรางพระเทวีไอซิสกางปีก แบบปีกเหยี่ยว เป็นสื่อรองรับและถ่ายทอดพลังอำนาจที่มาจากเบื้องบน ในการเอาชนะศัตรู และทำลายล้างสิ่งชั่วร้ายทุกอย่าง

ส่วนแบบปีกพญาแร้ง มีคุณวิเศษในการปกป้องคุ้มครองจากภยันตราย ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม รวมทั้งป้องกันจากคุณไสยมนต์ดำครับ

และเป็นประติมานวิทยา ที่เป็นแบบฉบับของพระเทวีไอซิสโดยเฉพาะ ไม่ซ้ำกับเทวีอื่นใด

เพราะเทพนารีที่มีปีกเช่นนี้ มีแต่ เทวีเนฟธีส (Nephthys) และ เทวีมาอัต (Ma’at) เท่านั้น


ทั้งสององค์มักมีปีกแบบพญาแร้ง และศิราภรณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน อีกทั้งยังไม่นิยมนำมาสร้างเป็นเครื่องรางเช่นนี้ด้วย


วัตถุมงคลและเครื่องรางเหล่านี้ ช่างฝีมือประจำราชสำนักอียิปต์โบราณมักนำมาใช้รวมกันหลายๆ ชนิด รวมกับสัญลักษณ์มงคล เพื่อให้เกิดพลัง และอานุภาพที่หลากหลายที่สุด โดยเฉพาะถ้าเป็นของใช้สำหรับกษัตริย์และราชินี




ตัวอย่างเช่น ทับทรวงของฟาโรห์ตุตันคาเมน ในภาพนี้ ประกอบด้วยสคาแร็บและปีกเหยี่ยว ดวงตาวัดจัต และยูรีอุส ประกอบสัญลักษณ์มงคล คือ ดวงสุริยะ และดอกบัว

ทั้งหมดนอกจากจะหมายถึงแสงสว่าง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสุริยเทพแล้ว ยัวมอบพลังแห่งการปกป้อวตุ้มครอง พลังในการทำลายสิ่งชั่วร้าย และการทำลายล้างศัตรูอย่างไม่จำกัดด้วย

แต่องค์ฟาโรห์ตุตันคาเมนนั้น พระชันษาไม่ยั่งยืน ครองราชย์อยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็สิ้นพระชนม์

นั่นอาจเป็นเพราะพระวรกายของพระองค์นั้นทุพพลภาพ พระพลานามัยก็อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ฃึ่งถ้าเป็นวิบากกรรมที่ทรงมีมาตั้งแต่ประสูติ วัตถุมงคลและเครื่องรางใดก็ช่วยเหลือพระองค์ไม่ได้

และเป็นไปได้ว่า พระองค์อาจจะมิได้มีอาสใช้ทับทรวงชุดนี้เลย ตลอดรัชกาลอันสั้นของพระองค์


...................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


มงคลและอัปมงคล

  * วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา * ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโ...