*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
ในทรรศนัของคนอียิปต์โบราณ เหยี่ยว
เป็นสัญลักษณ์แทนความสูงส่ง ความสง่าน่าเกรงขาม ความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้พิชิต
เพราะโดยธรรมชาติของเหยี่ยวนั้น
เป็นสัตว์ที่บินสูง มันคอยมองเหยื่อจากกลางอากาศ
แล้วเมื่อพบก็โฉบลงจับเป้าหมายของมันได้โดยไม่ผิดพลาด กรงเล็บอันแข็งแกร่งของมันพันธนาการเหยื่ออย่างไม่มีโอกาสดิ้นหลุด
และตามสภาพภูมิศาสตร์ของอียิปต์แล้ว
เหยี่ยวเป็นนกที่ดูสง่างามยิ่งกว่านกชนิดใดๆ ที่รู้จักกัน
เทพที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง
เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอำนาจเหนือผู้อื่น ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวนกเหยี่ยว
เป็นการแสดงความหมายขององค์เทพ
ด้วยรูปแบบทางศิลปกรรรม ซึ่งรียกกันว่า ประติมานวิทยา (Iconography)
เท่านั้น มิได้หมายความว่า
เทพองค์นั้นทรงมีพระเศียรเป็นสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ ครับ
และเช่นเดียวกัน ก็จะมีการสร้างประติมากรรมขององค์เทพเหล่านั้น
ด้วยรูปของเหยี่ยวทั้งตัว ทั้งในท่ายืนและท่าที่กำลังบิน โดบใช้เป็นเครื่องราง
และสัญลักษณ์แทนพระองค์เท่านั้น มิใช่สำหรับบูชาอย่างเต็มรูปแบบ
เหมือนเทวปฏิมาที่มีพระวรกายเป็นมนุษย์
ในประติมานวิทยาไอยคุปต์
เทพที่มีสัญลักษณ์เป็นพญาเหยี่ยวนั้นมีด้วยกันหลายองค์ แต่ที่สำคัญจริงๆ
และมีมาตั้งแต่ยุคแรกสุด มีเพียง 3 องค์ ซึ่งเป็นจอมราชันย์แห่งสวรรค์ โลก
และสัมปรายภพ
สุริยเทพรา (Ra) จอมราชันย์แห่งสวรรค์
ทรงเป็นเทวกษัตริย์ หรือฟาโรห์องค์แรกแห่งปฐมกาล
ทรงเป็นผู้ถือกำเนิดด้วยพระองค์เอง และทรงครอบครองสวรรค์และโลก
ซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นด้วยพระเทวานุภาพของพระองค์
ในเทวตำนานไอยคุปต์กล่าวว่า
มนุษย์ไม่รู้ถึงเทวลักษณะที่แท้จริงของพระองค์หรอกครับ
จนกระทั่งพระองค์ได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปของดอกบัว
พระองค์ยังได้ปรากฏในรูปอื่นอีก เช่น เสาโอเบลิสค์
(Obelisk)
ซึ่งชาวอียิปต์เรียกว่า เบน-เบน (Ben-Ben)
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า
ทุกเช้าภายหลังการสรงน้ำ และการเสวยแล้ว พระองค์และคณะเทพผู้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ
ในโลก จะเสด็จประทับบนเรือสุริยะเดินทางข้ามขอบฟ้า เพื่อทอดพระเนตรเหตุการณ์ในเมืองสำคัญของอาณาจักรอียิปต์
12 เมือง เมืองละ 1 ชั่วโมง
หลังจากนั้น แสงสว่างของพระองค์จะสลัวลง
และจะเสด็จลงไปใต้พื้นโลกทางทิศตะวันตก
บางคัมภีร์กล่าวว่า
ระยะเวลานั้นเป็นห้วงเวลาที่พระชนม์ชีพของพระองค์หมดสิ้นลง วิญญาณของพระองค์จะลอยไปท่ามกลางความมืดมิดแห่งยมโลก
และถูกคุกคามด้วยการโห่ร้องของบรรดาผีร้ายต่างๆ
จนรัตติกาลผ่านไปครบ 12 ชั่วโมง
พระองค์ก็จะถือกำเนิดใหม่
และจะเสด็จลงเรือสุริยะพร้อมกับคณะเทพทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง
หมุนเวียนเช่นนี้ไปชั่วนิรันดร์
สุริยเทพราทรงเป็นเทวกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองอียิปต์
แต่เมื่อพระองค์เริ่มชราภาพ
ก็ได้มีเหตุการณ์ที่บังคับให้พระองค์ต้องละทิ้งโลกมนุษย์
ซึ่งมีกล่าวไว้ในเทวปกรณ์ที่แตกต่างกัน 2 กระแสครับ
กระแสหนึ่งกล่าวว่า
เมื่อเป็นที่ล่วงรู้กันว่าองค์สุริยเทพทรงชราภาพเกินกว่าจะปกครองต่อไปได้
มนุษยชาติก็ขาดความยำเกรง เหยียดหยาม และวางแผนร้ายต่อพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงการกบฏนี้
จึงตัดสินพระทัยสังหารเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ให้หมดสิ้นครับ
เครื่องมือแห่งความหายนะ ที่พระองค์ประทานแก่โลก คือ เทวีเซ็คเมต (Sekhmet) ซึ่งปรากฏในรูปของนางพญาสิงโตผู้กระหายเลือด ตระเวนไปทั่วอียิปต์ คร่าชีวิตมนุษย์อย่างโหดเหี้ยมไปเหลือคณานับ
การทำลายอันน่าหวาดหวั่น ดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน
จนในที่สุด สุริยเทพทรงเกิดความเมตตาเหล่ามนุษย์ที่เหลืออยู่ไม่มาก
และกำลังหนีตายอยู่นั้น
พระองค์จึงได้ส่งเลือดปลอมที่ทำจากไวน์ไปให้เทวีเซ็คเมตดื่ม
เมื่อพระนางอิ่มแล้วจึงได้บรรทมหลับไป
และเมื่อตื่นขึ้นอีกครั้ง พระนางก็กลายเป็น มหาเทวีฮาเธอร์ (Hathor)
หรือเทวีแห่งความรัก
ในที่สุด องค์สุริยเทพได้ตัดสินพระทัย ที่จะละทิ้งทุกสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้น
พระองค์ตรัสว่า
“เราเหนื่อยหน่ายอย่างยิ่ง ในการอยู่ร่วมกับมนุษย์
ตอนนี้หัวใจของเราอ่อนล้า เราได้สังหารพวกเขาจนแทบจะถึงคนสุดท้าย
ดังนั้นคนที่เหลืออยู่จึงไม่ใช่กิจธุระของเรา”
จากนั้น พระองค์ลอยไปอยู่บนฟ้า
โดยเสด็จประทับไปบนหลังแม่โคศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นร่างแปลงของ เทวีนุต (Nut) เทวีแห่งนภากาศ ซึ่งเป็นพระชายาของพระองค์
เทพเจ้าทั้งหลาย ได้อาศัยแม่โคศักดิ์สิทธิ์ไปสู่สวรรค์ในคราวนี้ด้วย
ยังคงเหลือเทพอยู่ในโลกเพียงไม่กี่องค์เท่านั้น
สุริยเทพราได้ประทานราชบัลลังก์ในโลกให้ เทพชู
(Shu)
ทรงปกครองต่อมา แต่ตลอดรัชกาลของเทพชู พระองค์ต้องปราบปรามผู้วางแผนชิงบัลลังก์
และความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไป
ในปลายรัชกาล พระองค์ก็ทรงเป็นโรคร้าย
จนแม้พระสหายที่ทรงสนิทที่สุดก็ยังเป็นกบฏต่อพระองค์
เทวกษัตริย์องค์ที่ 3 ที่ครองราชย์ต่อมาคือ เทพเก๊บ
(Geb)
ผู้รักษาแผ่นดินโลก ซึ่งก็พบกับความยุ่งยาก
และทรงถูกทำลายด้วยลมหายใจจาก ยูรีอุส (Uraeus)
ก่อนที่ยุคแห่งอารยธรรมอย่างแท้จริงบนโลก
จะเริ่มต้นด้วยการปกครองของฟาโรห์องค์ที่ 4 คือ จอมเทพโอสิริส
อีกกระแสหนึ่ง ซึ่งอยู่ในคติโอสิเรียน กล่าวว่า
พระเทวีไอซิสทรงวางแผนให้พระองค์สละราชบัลลังก์ประทานจอมเทพโอสิริส ตามที่ผมได้โพสต์ไปแล้วก่อนหน้านี้
ใน ปกรณัมแห่งไอซิส
ราชรถทองนี้ จะถูกบรรจุไปในเรือสุริยะทุกวัน
และพระองค์จะทรงใช้เมื่อศัตรูสำคัญของพระองค์ คือ พญางูอโปฟิส (Apophis)
ทะยานจากที่หลบซ่อนในส่วนลึกที่สุดของแม่น้ำไนล์
ขึ้นมาโจมตีเรือสุริยะของพระองค์
ถ้าพระองค์และคณะเทพทั้งหลาย
ยับยั้งการโจมตีนั้นไว้ไม่ได้ องค์สุริยเทพจะสละเรือสุริยะ และทรงใช้ราชรถทองคำเสด็จหนี
จอมปิศาจอโปฟิสก็จะคาบกลืนเรือนั้นไว้ได้เป็นการชั่วคราว
ก่อนที่จะถูกตอบโต้จนต้องยอมคายเรือออก แล้วหนีกลับสู่แม่น้ำไนล์อีกครั้งหนึ่ง
ช่วงที่พญางูอโปฟิสกลืนเรือสุริยะเข้าไปนี้
ชาวอียิปต์อธิบายว่า เป็นต้นเหตุของ สุริยคราส ครับ
ในทางจักรวาลวิทยา ได้มีการบรรยายไว้ว่า
สุริยเทพราทรงประทับอยู่บนบัลลังก์ทำด้วยเหล็กกล้า ล้อมรอบด้วยเทพเจ้าผู้อาวุโส
ซึ่งเคลื่อนไปรอบๆ พระองค์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นก็คือ
ภาพจำลองของระบบสุริยะนั่นเอง
และแสดงให้เห็นว่า
ชาวอียิปต์รู้เรื่องโลกและดาวเคราะห์ต่างๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์
มานานนับพันปีก่อนนักดาราศาสตร์ยุโรปครับ
มหาเทพโฮรุส (Horus)
จอมราชันย์แห่งโลก
ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งเทวกษัตริย์
หรือฟาโรห์ผู้ปกครองแผ่นดินไอยคุปต์ ทรงมีพระนามในภาษาอียิปต์ว่า เฮรู (Heru)
ในเทวตำนาน พระองค์ประสูติ ณ เกาะเชมมิส
(Chemmis)ในช่วงเวลาอันมืดมนที่สุด ภายหลังจากพระบิดา คือจอมเทพโอสิริส
ถูกเทพเซธปลงพระชนม์และแย่งชิงราชบัลลังก์
พระเทวีไอซิส พระมารดาของพระองค์
ต้องทรงฝากฝังพระองค์ไว้กับนางพญางูผู้ทรงอำนาจ และต้องจากไปเป็นเวลาแรมปี
เพื่อตามหาพระศพของจอมเทพโอสิริส
และพระองค์ก็กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป
เมื่อเทพเซธสามารถแปลงร่างเป็นแมงป่อง
หลุดรอดสายพระเนตรของเหล่าเทพเจ้าที่เฝ้าปกป้องพระองค์
เข้ามาต่อยพระองค์ซึ่งยังแบเบาะ จนถึงสิ้นพระชนม์
ในตำราหนึ่งกล่าวว่า
มหาเทพธอธได้เสด็จมาช่วยดับแสงอาทิตย์ลงชั่วคราว จนพระเทวีสามารถคืนพระชนม์ชีพแก่พระโอรสได้สำเร็จ
แต่ในอีกตำราหนึ่งกล่าวว่า
มหาเทพธอธทรงแนะนำให้พระเทวีไอซิสยอมรับการจากไปชั่วคราว ของมหาเทพโฮรุส
เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม พระองค์กจะกลับมาประสูติใหม่ในโลกอีกครั้งหนึ่ง
โดยการจากไปชั่วคราวนี้
วิญญาณของมหาเทพโฮรุสได้เสด็จไปเฝ้าองค์จอมเทพโอสิริสที่ปรโลก
จากนั้นจึงเสด็จกลับมาเกิดใหม่ในร่างของ พญานกเบนนู (Bennu)
ซึ่งเมื่อไปเกาะบนยอดเสาของมหาเทวสถานอห่งเ เฮลิโอโปลิส
(Heliopolis)
ก็จะถูกแสงพระอาทิตย์ของสุริยเทพราแผดเผาจนกลายเป็นขี้เถ้า
และจากขี้เถ้านั้น ก็จะกลับฟื้นขึ้นเป็นพญานกเบนนูอีก
ในระหว่างเวลานั้น
พระเทวีไอซิสจะต้องทรงทวงสิทธิ์อันชอบธรรม สำหรับราชบัลลังก์ของมหาเทพโฮรุส
ก่อนที่พระองค์จะกลับมาประสูติเป็นเทวกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งพระเทวีไอซิสก็ทรงใช้กลลวงหลอกล่อ
ให้เทพเซธสัญญาที่จะยกราชบัลลังก์ให้มหาเทพโฮรุส และจะไม่รบกวนพระองค์จนกว่าจะเจริญพระชันษาได้สำเร็จ
หลังจากนั้น มหาเทพโฮรุสจึงกลับมาประสูติในร่างของมนุษย์
มหาเทพโฮรุส
เจริญพระชันษาขึ้นโดยทรงฝึกฝนการใช้เวทมนต์และอาวุธต่างๆ
เพื่อการแก้แค้นแทนพระบิดา เมื่อทรงพร้อมที่จะเข้าสู่สนามรบ
พระองค์ได้จัดเตรียมกองทัพใหญ่ โดยมีพระปิตุลา คือ เทพฮาร์มาคิส (Harmakhis)
เป็นกำลังสำคัญด้วย
ก่อนออกรบครั้งแรก เทพฮาร์มาคิสเป็นผู้ค้นพบ ดวงตาวัดจัต
(Uadjat)
ของมหาเทพโฮรุส โดยเมื่อเทพฮาร์มาคิสทรงบริกรรมคาถา พระเนตรของมหาเทพโฮรุสก็เปล่งแสงเจิดจ้ายิ่งกว่าพระอาทิตย์
และจากดวงพระเนตรอันศักดิ์สิทธิ์นั้น เทพฮาร์มาคิสสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลก
แต่เมื่อเทพเซธรู้ว่า
มหาเทพโฮรุสทรงมีดวงตาศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็ได้พยายามทำลายด้วยใช้มนต์ดำ
แต่ก็ไม่เป็นผล
จากนั้น มหาเทพโฮรุสทรงนำกองทัพมุ่งสู่อียิปต์
เพื่อติดตามล้างแค้นเทพเซธ ซึ่งในการปะทะกันแต่ละครั้ง
พระองค์ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยเทวานุภาพ
ดังเช่นการรบที่ เมมฟิส (Memphis) พระองค์ทรงแปลงร่างเป็นจานสุริยะขนาดใหญ่ มีปีกสีทองเปล่งประกาย ทำให้ทหารของเทพเซธเสียสติ และต่อสู้กันเองจนตายหมด
เมื่อกองทัพของเซธได้รับความปราชัยย่อยยับในทุกแห่ง
เทพเซธก็จำต้องออกมาต่อสู้ด้วยพระองค์เอง
โดยแปลงร่างเป็นอสุรกายที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง
แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้
จนถูกมหาเทพโฮรุสจับล่ามโซ่นำกลับไปยังเทวสภาแห่งเฮลิโอโปลิส
ในเทวสภา สุริยเทพราทรงพิพากษาให้เทพเซธได้รับการลงโทษเสมอกับที่เคยกระทำไว้กับจอมเทพโอสิริสทุกอย่าง
แต่ไม่ทันที่มหาเทพโฮรุส
จะบั่นร่างของเทพเซธให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เทพเซธก็แปลงร่างเป็นงูมุดดินหนีหายไป
มหาเทพธอธได้ถวายคำแนะนำว่า เทพเซธในร่างอสรพิษและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่เป็นบริวาร
ได้หนีไปถึงเขตทะเลทรายทางใต้ และมหาเทพโฮรุสจะต้องทำสงครามครั้งสุดท้ายที่นั่น
เพื่อประกาศความเป็นเทวกษัตริย์อันชอบธรรมของพระองค์
มหาเทพโฮรุส จึงได้นำกองทัพติดตามไปถึงเมือง เอ็ดฟู
(Edfu)
ที่นั่นเทพเซธได้แปลงร่างเป็นฮิปโปโปเตมัสสีแดงขนาดใหญ่เท่าๆ
กับแม่น้ำไนล์รอคอยอยู่
มหาเทพโฮรุสจึงทรงบันดาลให้เกิดน้ำท่วม
กวาดเอาเกาะช้างด้านใต้ของเมืองเอ็ดฟูหายไปทั้งเกาะ
รวมทั้งกองทัพส่วนใหญ่ของเทพเซธด้วย
จากนั้น พระองค์ก็เนรมิตฉมวกเหล็กยาว 30 ฟุต
เข้าต่อสู้กับเทพเซธในร่างพญาช้างน้ำ
การต่อสู้อันรุนแรงปานจะทำให้โลกถล่มทลายได้บังเกิด
เทพเซธสามารถควักพระเนตรศักดิ์สิทธิ์ของมหาเทพโฮรุสออกไปได้ข้างหนึ่ง
แต่ก็ถูกสังหารด้วยฉมวกเหล็กนั้นจนได้ในที่สุด
ด้วยพระเนตรที่เหลืเพียงข้างเดียว มหาเทพโฮรุสทรงบั่นพระศพของเทพเซธเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปโยนให้ฝูงแมว ตลอดจนสัตว์ที่โหยหิวอื่นๆ กินเป็นอาหาร ท่ามกลางเสียงถวายพระพรของชาวอียิปต์ที่ดังกึกก้อง
ส่วนพระเนตรที่ถูกควักออกไปนั้น
มหาเทพธอธได้ทรงคืนแก่มหาเทพโฮรุสในเวลาต่อมา
จากนั้น
มหาเทพโฮรุสเสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์อียิปต์ เป็นฟาโรห์องค์ที่ 3
ตามคติโอสิเรียน และเป็นเทวกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ครองโลก
เมื่อเสด็จสวรรคต
เหล่าเทพและมนุษย์ได้ร่วมกันจัดพิธีศพ
ซึ่งเป็นต้นแบบของพิธีศพของฟาโรห์อียิปต์ทุกองค์
ยมเทพโซการ์ (Sokar)
จอมราชันย์แห่งสัมปรายภพ
พระนามของเทพองค์นี้
อาจเขียนแตกต่างกันได้อีกสองสามแบบ เช่น เซเกร์ (Seker)
และ โซคาริส (Sokaris)
พระองค์มักปรากฏในรูปของวิญญาณ หรือ บา (Ba) ซึ่งแสดงด้วยรูปนกที่มีศีรษะเป็นคนลอยอยู่เหนือศพ
ทรงมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่หยุดนิ่ง
หรือสภาวะแห่งชีวิตหลังความตาย ที่กำลังรอเวลาที่จะไปเกิดใหม่
จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความมืดมน ปราศจากความเคลื่อนไหว
ยมเทพโซการ์เป็นเทพรุ่นโบราณมากๆ องค์หนึ่งครับ
และเป็นเทพแห่งนครเมมฟิส (Memphis) มาแต่เดิม
ณ ที่นั้น ก่อนที่จะเกิดเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา
เคยเป็นแหล่งสุสานขนาดใหญ่ ชาวอียิปต์ตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์นิยมนำศพไปฝังกันไว้ที่นั่น
และต่างพากันสักการะบูชายมเทพโซการ์ ในฐานะผู้พิทักษ์สุสานแห่งนั้น
แต่ในภายหลัง เมื่อนครเมมฟิสเจริญรุ่งเรืองขึ้น
ผู้คนได้หันไปยกย่อง มหาเทพพทาห์ (Ptah) ขึ้นเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดแทน
ส่วนยมเทพโซการ์
ยังคงประทับอยู่ในนครสุสานอันศักดิ์สิทธิ์
และเป็นที่สักการะบูชาในฐานะนั้นเช่นเดิม
ประติมานวิทยาของยมเทพโซการ์ มีพระเศียรเป็นเหยี่ยวเหมือนกับสุริยเทพรา
และ มหาเทพโฮรุส แต่มักทรงศิราภรณ์เป็นรูปมงกุฎ
อาเตฟ (Atef : คือหมวกทรงสูงที่มีปีกสองข้าง
แบบเดียวกับจอมเทพโอสิริส) หรือบางที ก็ทรงศิราภรณ์รูปเขาวัวคู่โอบดวงสุริยะ
และอาจมียูรีอุสด้วย
ในภาพเขียนยุคแรกๆ
มักแสดงถึงพระองค์ที่กำลังประทับอยู่บนบัลลังก์ ถือสัญลักษณ์แห่งอำนาจ
เช่นอังค์และเซ็พเทอร์ บางทีก็ถือตะขอกับแส้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทวกษัตริย์
ต่อมา ในสมัยอาณาจักรใหม่
ประติมานวิทยาของพระองค์ได้เปลี่ยนไปเป็นรูปมัมมี่
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับพิธีมรณศาสตร์โดยเฉพาะ
และแม้จะทรงเกี่ยวข้องกับรัตติกาล ความมืด
การตาย และสุสาน เช่นเดียวกับเทพอนูบิส แต่ในสิ่งที่คล้ายกัน
ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันนะครับ
เทพอนูบิสเป็นเทพแห่งพิธีศพ พระองค์คือ สัญลักษณ์ของความตาย
ขณะที่ยมเทพโซการ์เป็นเทพแห่งสุสาน หมายถึง ชีวิตหลังความตาย
ที่ประทับของยมเทพโซการ์นั้น เป็นสุสานมาแต่แรก
และยังคงเป็นตลอดยุครุ่งเรืองของอียิปต์ จึงเป็นสถานที่ที่มีแต่ความวังเวง
เศร้าหมอง และหดหู่ กลางคืนหนาวเย็นจับขั้วหัวใจ
ไม่มีผู้คนอยู่ที่นั่นนอกจากเมื่อมีพิธีศพ
พระองค์จึงทรงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่กล่าวมานี้
พระองค์เฝ้ารักษาสถานที่ ซึ่งผู้วายชนม์ทั้งหมดจะถูกนำมาฝัง และทรงปกป้องศพ
ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของพวกเขา
เพราะในทางมรณศาสตร์ไอยคุปต์ เชื่อกันว่า
ถ้าไม่มีการเก็บรักษาศพไว้ วิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น จะไม่สามารถไปเกิดใหม่ได้ครับ
ในฐานะของยมเทพ
จึงมีบางลัทธิที่บูชาพระองค์เหมือนกับจอมเทพโอสิริส คือทรงเป็นประธานการพิพากษาวิญญาณผู้วายชนม์
โดยมีเทพอนูบิส กับมหาเทพธอธเป็นผู้ประกอบพิธีการชั่งน้ำหนักหัวใจ
เหมือนในหอพิพากษาของจอมเทพโอสิริสทุกประการ
ยมเทพโซการ์
ยังทรงเป็นเทพแห่งการกสิกรรมด้วยครับ
ในเทศกาลบูชาประจำปีสำหรับพระองค์
ซึ่งอยู่ในฤดูหนาว
บรรดานักบวชและผู้ศรัทธาพระองค์จะช่วยกันลากเรือที่ประดิษฐานพระเทวรูปของพระองค์
ผ่านทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง
เพื่อให้ทรงเปลี่ยนทุ่งหญ้านั้นให้กลับเขียวขจีและอุดมสมบูรณ์
เหตุที่เทพแห่งนครสุสาน ทรงเกี่ยวข้องกับการสร้างชีวิตใหม่เช่นนี้
ก็เพราะชาวอียิปต์คิดว่า ความตายย่อมนำไปสู่ชีวิตใหม่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจอมราชันย์แห่งสวรรค์ โลก
และสัมปรายภพ มี่มีสัญลักษณ์เป็นพญาเหยี่ยวเหมือนกันทั้ง 3 องค์ แต่ประติมากรรมเทพไอยคุปต์
ที่ปรากฏในรูปเหยี่ยวทั้งตัว กลับนิยมทำกันแต่มหาเทพโฮรุสเท่านั้น
ที่เป็นสุริยเทพราปรากฏไม่มากนัก
และยมเทพโซการ์นั้นไม่ปรากฏเลย
โดยมหาเทพโฮรุส ในรูปของพญาเหยี่ยวทั้งองค์นั้น
เดิมเป็นวัตถุมงคลคู่บารมีองค์ฟาโรห์ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ
และชัยชนะเหนืออริราชศัตรู
ส่วนมากจะทำด้วยไม้ปิดทองลงยา
และโลหะขนาดตั้งโต๊ะ จนถึงหินแกะสลักขนาดใหญ่ไว้ภายในภายนอกเทวสถาน
สำหรับให้ประชาชนสักการบูชาแทนพระองค์
แม้ว่าโดยหลักการแล้ว
เทวประติมากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ จะยังคงนับเป็นเครื่องรางมากกว่าเทวรูป
เพราะไม่อาจรองรับการบูชาได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเทวรูปจริงๆ ก็ตาม
ปัจจุบัน ได้มีการนำมาทำเป็นศิลปวัตถุ
เลียนแบบของโบราณ (Replica) และได้รับความนิยมในระดับสูงมากครับ
ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเรซิน
แต่ถ้ามีความประณีตเพียงพอ ก็จะมีพลังในตัวเองอยู่ระดับหนึ่ง
ในการสลายพลังชั่วร้าย ชนะศัตรู และตั้งบูชาระหว่างการเดินทาง
เพื่อป้องกัน-แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุได้
และถ้าได้รับการการเทวาภิเษก (Consecration)
ที่ถูกต้อง ตามหลักเทวศาสตร์ไอยคุปต์
อานุภาพดังกล่าวมานี้ก็จะสมบูรณ์ และยั่งยืน
เมื่อเสกแล้ว การบูชาก็ไม่ยากอะไรเ
เพียงแต่ต้องจัดวางในลักษณะที่เรียบร้อย สง่างาม ไม่ใช่วางเล่นๆ
หรือนึกจะวางตรงไหนก็วาง และต้องไม่อยู่ใกล้พระพุทธรูป
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิศาสนาอื่น
จากนั้น ถ้าเป็นขนาดเล็กพอจะตั้งหน้ารถได้
ก็หันหน้าท่านเข้ามาในรถ เบื้องหน้าท่าน วางถ้วยเล็กๆ สำหรับใส่กำยาน แก้มนวล
1 ดอก ถวายเครื่องหอมด้วยการหยดน้ำมันหอมระเหย Egypt Blend ของ Mystica (ดู http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/06/mystica.html) ใส่กำยานดอกนั้น แล้วสวดคาถาบูชา 1 จบ ก่อนจะขับรถออกจากบ้าน
ถ้าเป็นองค์ใหญ่ ตั้งไว้บนแท่นบูชาในบ้าน
ก็ถวายน้ำ ถวายดอกไท้ เผากำยาน แก้มนวล 1 ดอก
ถวายเครื่องหอมด้วยการหยดน้ำมันหอมระเหย Egypt Blend ใน Burner เช้า-ก่อนนอน ทุกวัน เท่านั้น
...................................
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น