วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ประติมานวิทยาไอยคุปต์




มีการถกเถียงกันมากครับ เกี่ยวกับเทพเจ้าอียิปต์โบราณหลายองค์ที่มีพระเศียรเป็นสัตว์ หรือปรากฏพระองค์ในรูปสัตว์ ซึ่งมักเป็นสัตว์ที่เราพบเห็นได้จริงๆ

มีน้อยมากนะครับ ที่จะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย

ตามทฤษฎีเก่าแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากลัทธิการบูชาสัตว์ครับ

กล่าวคือ เมื่อมนุษย์สมัยโบราณมองเห็นความสามารถ และคุณสมบัติโดดเด่นของสัตว์ชนิดใด ก็บูชาสัตว์ชนิดนั้นเพื่อให้ได้รับ พลัง อย่างเดียวกัน แล้วมนุษย์ก็ยกให้พวกมันเป็นเทพเจ้า

คติความเชื่อเช่นนี้ปรากฏในโลกโบราณทั่วๆ ไปครับ

ที่เห็นได้ชัดก็เช่น การบูชาวัวในอินเดีย ซึ่งยังทำกันอยู่แม้ในเวลานี้

ซึ่งนักศาสนศาสตร์รุ่นเก่าก็มักอธิบายว่า คติเช่นนี้มีอยู่ในอียิปต์เช่นกัน

แต่นักเทววิทยายุคปัจจุบันมองว่า ลัทธิการบูชาสัตว์ของอียิปต์นั้น สมควรจะต้องได้รับการอธิบายเสียใหม่

ทั้งนี้เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ชาวอียิปต์มิได้บูชาสัตว์เพราะว่ามันเป็นสัตว์ เช่นมิได้บูชาเหยี่ยวเพราะว่ามันเป็นเหยี่ยว มิได้บูชาแมวเพราะว่ามันเป็นแมว นะครับ

พวกเขาเพียงแต่ บูชาพลังอำนาจอันเร้นลับและมหัศจรรย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยอาศัยสัตว์เหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ ต่างหาก

ยกตัวอย่างก็คือ คนอียิปต์โบราณใช้ เหยี่ยว เป็นสัญลักษณ์แทนความสูงส่ง ความสง่าน่าเกรงขาม ความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้พิชิต

เพราะโดยธรรมชาติของเหยี่ยวนั้น เป็นสัตว์ที่บินสูง มันคอยมองเหยื่อจากกลางอากาศ แล้วเมื่อพบก็โฉบลงจับเป้าหมายของมันได้โดยไม่ผิดพลาด กรงเล็บอันแข็งแกร่งของมันพันธนาการเหยื่ออย่างไม่มีโอกาสดิ้นหลุด




และตามสภาพภูมิศาสตร์ของอียิปต์แล้ว เหยี่ยวเป็นนกที่ดูสง่างามยิ่งกว่านกชนิดใดๆ ที่รู้จักกัน

วัวก็เช่นกันครับ

คนอียิปต์ใช้มันเป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้า การให้ การหล่อเลี้ยง และพลังชีวิต

เพราะวัวตัวหนึ่ง ให้ทั้งน้ำนม เนื้อ หนัง และเขา เป็นสัตว์สารพัดประโยชน์ยิ่งกว่าสัตว์ชนิดใดๆ ที่จะเลี้ยงกันได้ในแถบโอเอซิสของทวีปแอฟริกา

วิธีคิดเช่นนี้ ก็คือการแทนสิ่งต่างๆ ที่เป็นนามธรรม ด้วยสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ และเห็นตรงกันไงครับ

เหยี่ยวคือความยิ่งใหญ่ วัวคือการหล่อเลี้ยง จระเข้คือผู้รักษากฎของแม่น้ำ กบคือความอุดมสมบูรณ์ สุนัขไนคือความตาย (เพราะมันชอบเที่ยวคุ้ยซากศพกิน) สิงโตคือพละกำลัง แมงป่องและงูคืออันตรายน่าสะพรึงกลัว ฯลฯ




ด้วยเหตุนี้ชาวอียิปต์จึงนำสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์ หรือรูปบูชาแทนสิ่งที่เป็นนามธรรม เปรียบเสมือนเราเอาพระพุทธรูปมาเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เอาล้อเกวียนมาเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมนั่นแหละครับ

เรามิได้กราบไหว้พระพุทธรูป โดยเห็นว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราก็มิได้บูชาพระธรรมจักร เพราะคิดว่านั่นคือล้อเกวียนแต่อย่างใด

เมื่อคนอียิปต์แทนพลังนามธรรมต่างๆ ด้วยสัญลักษณ์ที่เป็นรูปสัตว์ดังกล่าวแล้ว ต่อมาพวกเขาจึงค้นพบว่า พลังทางนามธรรมต่างๆ ที่พวกเขานับถือกันอยู่นั้น ล้วนแต่มีเทพเจ้าคอยกำกับอยู่ และเทพเจ้าก็มีรูปร่างลักษณะอย่างมนุษย์นั่นเอง

พวกเขาจึงพัฒนาการทำรูปเคารพ หรือเทวรูปต่างๆ ขึ้น โดยเอาลักษณะทางกายภาพของมนุษย์มาปรุงแต่งดัดแปลงตามรสนิยม ทัศนคติ และความชำนาญทางศิลปกรรม จนก่อเกิดรูปแบบที่เป็นอุดมคติ (Idealistic) ขึ้น

รูปแบบที่เป็นอุดมคติเช่นนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานในการสร้างเทวรูป และบุคคลศักดิ์สิทธิ์ครับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ จากจิตรกรรมไอยคุปต์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ รูปอุดมคติของบุคคลในจิตรกรรมเหล่านั้น จะต้องแสดงออกเป็นสองมิติ และไม่สนใจที่จะเลียนแบบของจริง




ช่น ทำให้มองเห็นศีรษะและใบหน้าด้านข้าง ดวงตาด้านหน้า ไหล่ด้านหน้า แขนและมือด้านข้าง ลำตัวด้านหน้า สะโพกด้านข้าง ขาและเท้าทั้งสองด้านข้าง และการวางท่าทางที่เป็นมุมหัก เป็นต้น

แต่เมื่อทำเทวรูปของเทพเจ้ามากองค์เข้า ก็เกิดปัญหาละครับ

ในเมื่อสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ล้วนแต่มีเทพต่างองค์กันควบคุม แล้วถ้าสร้างเทวรูปเป็นแบบอุดมคติ ซึ่งโดยข้อจำกัดทางทางศิลปกรรม จะทำให้รูปร่างหน้าตาเหมือนกันไปหมดแล้ว

จะทำอย่างไรให้รู้ว่า เป็นเทพองค์ไหน ทรงมีเทวานุภาพและคุณสมบัติในด้านใดกันล่ะ?

คำตอบที่ชาวอียิปต์โบราณคิดได้ก็คือ นำรูปสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังนามธรรม ที่เทพองค์ใดกำกับอยู่นั่นแหละบ เข้าไป “รวม” กับเทพองค์นั้น

เพราะฉะนั้น ชาวอียิปต์จึงเปลี่ยนเศียรของเทพต่างๆ ให้เป็นรูปสัตว์ เพื่อจะได้แสดงออกว่าเป็นเทพที่มีคุณสมบัติอย่างไร มีเทวานุภาพอย่างไร เกี่ยวข้องกับสิ่งไหน

เช่น เทพที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอำนาจเหนือผู้อื่น ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวนกเหยี่ยว




เทพที่ทรงควบคุมเรื่องเกี่ยวกับความตาย ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวสุนัขไน

เทพที่เป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง และความดุร้ายเหี้ยมเกรียม ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวสิงโต ฯลฯ

เป็นการแสดงความหมายขององค์เทพ ด้วยรูปแบบทางศิลปกรรรม ซึ่งรียกกันว่า ประติมานวิทยา (Iconography) เท่านั้น มิได้หมายความว่า เทพองค์นั้นทรงมีพระเศียรเป็นสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ ครับ

นอกจากแทนพระเศียรขององค์เทพด้วยสัตว์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่เทวะองค์นั้นทรงอุปถัมภ์มาแต่เดิมแล้ว ชาวอียิปต์ก็ยังมีวิธีการอื่นอีก




เช่น เมื่อค้นพบความจริงว่า พลังนามธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ ซึ่งแทนด้วยแม่วัวนั้น แท้ที่จริงมีเทพนารีอยู่องค์หนึ่งที่ทรงควบคุมอยู่ แทนที่จะเอาหัววัวเข้าแทนพระเศียรเทวรูปเทวีองค์นั้น ก็เอาเฉพาะเขาวัวมาทำเป็นศิราภรณ์ของเทวีองค์นั้นแทน เป็นการพลิกแพลงเทคนิคในทางศิลปกรรมไปอีกแบบหนึ่ง

หรือถ้าเป็นเทพนารีที่ทรงมีพระเทวานุภาพร้ายแรง ซึ่งเดิมใช้แมงป่องเป็นสัญลักษณ์ ก็เอารูปแมงป่องไปไว้เหนือพระเศียรเทวรูปเทวีองค์นั้น นี่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง




และต่อไปถ้าจะทำพระเทวรูปเทวีองค์นั้น จะทำศิราภรณ์เป็นแมงป่องก็ได้ ทำเป็นรูปแมงป่องทั้งตัวก็ได้ หรือจะเป็นรูปแมงป่องที่มีหัวเป็นเศียรเทวีองค์นั้นก็ได้ครับ

เทพบางองค์ แสดงคุณสมบัติอย่างตรงไปตรงมา เช่นองค์เทพ เคพรี (Khepri) ผู้สร้างโลก

โดยปกติ คนอียิปต์ใช้แมลงสคาแร็บ (Scarab) เป็นสัญลักษณ์แทนการสร้างโลก เพราะแมลงสคาแร็บชอบเอามูลสัตว์มาปั้นเป็นก้อนกลม แล้วพากลิ้งข้ามเนินทรายกลับไปที่รังเพื่อวางไข่

จักรวาลวิทยาอียิปต์ มองว่าโลกเราเกิดขึ้นมาด้วยลักษณาการที่คล้ายกันนี้

พอจะทำเทวรูปเทพเคพรีผู้สร้างโลก จึงต้องทำรูปสคาแร็บประกอบไว้ด้วย




แต่แทนที่จะเขียนรูปสคาแร็บวางไว้บนพระเศียร ก็เปลี่ยนเป็นเอาสคาแร็บทั้งตัวปะลงไปบนพระพักตร์

ที่ทำอย่างนี้ เพราะเหตุว่าในศิลปะอียิปต์ รูปแมลงทุกชนิดเขาจะไม่เขียนด้านข้าง จะเขียนเป็นรูปด้านตรงเสมอครับ 

แต่เหตุใดจึงไม่เขียนพระพักตร์ขององค์เทพเคพรีตามปกติ แล้วเอารูปด้านตรงของสคาแร็บไปไว้เหนือพระเศียร? แทนก็ยังไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้

ต่อมา เมื่อชาวอียิปต์พัฒนาการใช้อักษรภาพ ที่เรียกกันว่า ไฮโรกลิฟส์ (Hieroglyphs) มีความชำนาญในการสร้างสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยรูปสัตว์จริงๆ เป็นสื่อ

สัญลักษณ์หรืออักษรภาพเหล่านั้น ก็ถูกนำไปไว้เหนือพระเศียรขององค์เทพ เพื่อแสดงว่าทรงมีคุณสมบัติหรือเทวานุภาพในด้านใด




เช่นกรณีของ พระเทวีไอซิส (Isis) ที่ทรงมีสัญลักษณ์รูปบัลลังก์อยู่เหนือพระเศียร

หรือ เทวีเนฟธิส (Nephthys) ที่มีอักษรภาพซึ่งแปลความได้ว่า Lady of the Palace อยู่เหนือพระเศียร

ประติมานวิทยาเหล่านี้ มักใช้กับเทพเจ้าที่ชนชั้นสูงนับถือ เพราะว่าคนชั้นสูงอ่านหนังสือออกนั่นเอง

แต่เทพที่ทรงมีเศียรเป็นสัตว์ หรือมีรูปสัตว์อยู่เหนือพระเศียร กี่ยุคกี่สมัยก็ยังทำเหมือนเดิมแหละครับ และบางทีก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้สัญลักษณ์อื่นๆ ได้อีก

กรณีหลังนี้ มักพบเฉพาะในสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้คนสามัญได้เข้าไปรู้เห็น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีสื่อความหมายทางประติมานวิทยา ซึ่งชาวอียิปต์คิดค้นขึ้นด้วยความสามารถของตนเองอย่างแท้จริงครับ

โดยวิธีการเช่นนี้ แม้ผู้ที่ได้พบเห็นพระเทวรูปของเทพองค์นั้นๆ จะไม่มีความรู้มาก่อนว่าทรงเป็นเทพอะไร ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ทรงมีเทวานุภาพและคุณสมบัติในด้านใด

นับว่าเป็นวิธีที่ชาญฉลาดมากเท่าที่คนสมัย 5,000 ปีมาแล้วจะคิดได้


------------------


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561

เทวศาสตร์ไอยคุปต์




ศาสนาอียิปต์โบราณ ไม่มีศาสดาองค์ใดเป็นผู้ริเริ่ม ไม่มีศาสดาองค์ใดอ้างว่าได้ฟังมา หรือเป็นผลจากการค้นคว้าด้วยปัญญาญาณ

แต่เกิดขึ้น เพราะการสั่งสมความรู้ที่ได้จากการเข้าถึงสภาวะเร้นลับต่างๆ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางเทววิทยา (Theology)

ว่ากันตามสภาพภูมิศาสตร์ อาณาจักรอียิปต์โบราณนั้น แบ่งเป็นอียิปต์บน (Upper Egypt) และอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) ตามทิศทางการไหลของแม่น้ำไนล์ (Nile) เป็นเกณฑ์  

ดังนั้นเมื่อดูจากแผนที่ ส่วนที่เป็นอียิปต์ล่างจะอยู่ตอนบน เพราะแม่น้ำไนล์นั้นเกิดขึ้นบริเวณที่ราบสูงเอธิโอเปียแล้วไหลออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศเหนือ

อารยธรรมอียิปต์ เกิดขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่ยาวถึง 6,400 กิโลเมตรนี้ละครับ และได้รับผลจากความอุดมสมบูรณ์ภายหลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ทุกปีจนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด จึงได้รับการขนานนามว่า ของขวัญแห่งแม่น้ำไนล์ (Gift of the Nile)

แม่น้ำไนล์คือสายธารแห่งการก่อเกิดและดับสูญ ทิศตะวันออกของแม่น้ำ คือการถือกำเนิด ดังนั้นบ้านเมืองและอารยธรรมทั้งหมดจึงตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตะวันออก

ทิศตะวันตกคือการจบสิ้น ริมน้ำฝั่งตะวันตกจึงไม่มีผู้อยู่อาศัย มีแต่สุสาน และพีระมิด

ในขณะเดียวกัน เมื่อภูมิประเทศที่เหลือเป็นทะเลทราย ชาวอียิปต์โบราณก็ประจักษ์ว่า พลังอำนาจอันไม่มีประมาณของดวงอาทิตย์นั้น ย่อมเป็นเหตุปัจจัยของการเกิด การดำรงอยู่ และการสูญสิ้นไปของสรรพสิ่ง

เมื่อดวงอาทิตย์ทอแสงยามเช้า ทุกชีวิตก็สดชื่นและเคลื่อนไหว เมื่อดวงอาทิตย์โคจรข้ามขอบฟ้าจนลับหายไป ทุกชีวิตก็หยุดนิ่งอยู่ในท่ามกลางความมืดอันน่าสะพรึงกลัว ด้วยภยันตรายต่างๆ จากสภาพแวดล้อมในทะเลทราย




เมื่อวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ มีความผูกพันกับแม่น้ำไนล์ และพระอาทิตย์เป็นหลัก ลัทธิศาสนาของอียิปต์จึงมีพื้นฐานอยู่บนสองสิ่งนี้แหละครับ

แต่แม่น้ำไนล์ ก็กลับมิได้มีความสำคัญในแง่ศาสนาเท่ากับดวงอาทิตย์

แม้ว่าจะมีเทพประจำแม่น้ำ คือ เทพฮาปี (Hapi) แต่ก็ทรงเป็นเทพแห่งน้ำท่วมมากกว่าแม่น้ำปกติ และเทพองค์นี้ก็มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเทพผู้ยิ่งใหญ่องค์อื่นน้อยมากครับ ไม่มีเทวสถานที่สร้างสำหรับพระองค์เป็นการเฉพาะด้วยซ้ำไป

ความสำคัญของแม่น้ำไนล์ในทางศาสนาอียิปต์ เป็นแต่เครื่องรองรับเทวปกรณ์ (Mythology) และพิธีกรรม มากกว่าจะได้รับการเคารพบูชาโดยตรงอย่างแม่น้ำคงคาในอินเดีย

ขณะที่เทพเจ้าผู้เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ หรือสุริยเทพนั้นกลับมีอยู่มากมายหลายองค์ เพราะเทพเจ้าที่สำคัญมากๆ ในศาสนาอียิปต์นั้นมักจะได้รับการยกย่องว่าทรงมีความเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับพระอาทิตย์ทั้งสิ้น จนนักปราชญ์ทางศาสนาโบราณกล่าวว่า ศาสนาของชาวอียิปต์โดยเนื้อแท้เป็นการนับถือพระอาทิตย์

ที่สำคัญรองลงไปจากนี้ คือคณะเทพผู้ควบคุมโลกธาตุต่างๆ และคณะเทพที่มีเศียรเป็นรูปสัตว์

เทพเหล่านี้มีจำนวนมากครับ และปรากฏขึ้นตามเมืองต่างๆ กระจัดกระจายกันทั่วดินแดนอียิปต์ เทพองค์ใดเกิดขึ้นที่เมืองใด ก็ได้รับการนับถือโดยประชาชนของเมืองนั้น และดินแดนใกล้เคียง

เทพของเมืองที่ใหญ่กว่า จึงมีพรมแดนแห่งการสักการบูชามากกว่า เทพของเมืองเล็กก็มีขอบเขตแห่งการนับถืออยู่เฉพาะเมืองเล็ก

และเทพที่เป็นใหญ่อยู่ในแถบอียิปต์บน ก็มิได้รับความศรัทธาไกลไปถึงอียิปต์ล่าง สภาวการณ์เช่นนี้ เป็นมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์

ต่อมา เมื่ออาณาจักรอียิปต์บนและล่าง ถูกรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรัชสมัย ฟาโรห์เมเนส (Menes : ประมาณ 3,150 ปีก่อนคริสตกาล) ฟาโรห์พระองค์นี้จึงได้ทรงจัดระเบียบการนับถือเทพเจ้าเสียใหม่เป็นอันมาก และเทพเจ้าหลายองค์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็ปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยนี้เอง

แต่หลังจากยุคสมัยของพระองค์เป็นต้นมา บรรดาเมืองต่างๆ ภายในอาณาจักรต่างก็ยังคงมีเทพเจ้าเป็นของตนเอง มีคติความเชื่อและพิธีกรรมเป็นของตนเองโดยเฉพาะ จนสิ้นอารยธรรมอียิปต์

ดังนั้น การที่เรามักถูกนักอียิปต์วิทยารุ่นเก่าๆ ชักนำให้เข้าใจผิดกันมาตลอดว่า เทพเจ้าองค์สำคัญหลายองค์ที่เรารู้จักกันอยู่นั้น เป็นที่นับถือกันทั่วไปทุกหนแห่งตลอดผืนแผ่นดินอียิปต์ ความจริงแล้วไม่ใช่หรอกครับ

เทพเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ตามที่เรารู้จักกัน ก็เพราะทรงเป็นเทพของนครที่ใหญ่โต มีอิทธิพลทางการเมืองมากเท่านั้น

พ้นจากขอบข่ายแห่งอิทธิพลและอำนาจของนครดังกล่าว การยอมรับนับถือเทพเจ้าเหล่านั้นก็ผ่อนคลายลงไปด้วย

และแม้แต่ในนครใหญ่ที่นับถือแทพเหล่านั้น ก็มีหลายองค์นะครับ ที่มีแต่ชนชั้นสูงเคารพนับถือกัน ในขณะที่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วๆ ไป จะบูชาเทพชั้นรองกว่า




อีกทั้งถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว การที่เทพเหล่านั้นทรงมีชื่อเสียงมีความสำคัญตลอดมาจนถึงยุคสมัยของเรา ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกกรีก-โรมัน ซึ่งรับคติการบูชาเทพเหล่านั้นมา แล้วฝรั่งตะวันตกก็สืบทอดมาอีกต่อหนึ่งนั่นเอง

การนับถือเทพที่แตกต่างกันไปในแต่ละดินแดนอย่างนี้ ในทางหนึ่ง ก็เป็นปัญหาทางการเมืองการปกครองของอาณาจักรอียิปต์เองเหมือนกันนะครับ

เพราะเมื่อบูชาเทพคนละองค์กัน ย่อมทำให้รู้สึกว่า เป็นคนละหมู่คนละพวก หากมีการขัดแย้งกันขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกัน

ใครเข้มแข็งกว่าก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ บางทีอาจถึงแข่งขันกับศูนย์อำนาจหลักในขณะนั้น ความแตกแยกของอาณาจักรก็บังเกิดได้โดยง่าย

เพราะเหตุนี้ คณะนักบวชของเทพประจำนครใหญ่ หรือนครหลวงที่เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครองในแต่ละยุคสมัย จึงจำเป็นต้องผูกเทพนิยาย หรือเทวปกรณ์ขึ้นมา เพื่อรวบรวมคติการนับถือเทพที่กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ เข้ามาอยู่ในลัทธิศาสนาของตน




เป็นกุศโลบาย ที่จะทำให้วิถีแห่งศรัทธาของผู้คนในอาณาจักร เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไงครับ

ยุคสมัยใด ฟาโรห์พระองค์ใดนับถือเทพองค์ใดเป็นใหญ่ นักบวชก็แต่งเทพนิยายผูกเอาเทพองค์อื่นเข้ามารวมกับเทพองค์นั้น ให้มีบทบาทมีเรื่องราวต่างๆ สอดคล้องต่อเนื่อง 

แต่ในท้ายที่สุด ก็เพื่ออาศัยบารมีของเทพประจำนครที่เล็กกว่า มาช่วยหนุนเทพของตน ให้มีเทวอำนาจมีทิพยภาวะยิ่งใหญ่ขึ้น

การกระทำเช่นนี้ ในแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นการให้ความสำคัญ แก่เทพประจำนครเล็กๆ เหล่านั้นด้วยครับ

เพราะเทพพื้นเมืองบางองค์ไม่เคยมีบทบาทอะไรเลย ก็กลับมีฐานะอันเด่นชัด มีอำนาจบารมีมากขึ้น

หรือบางองค์เคยมีเรื่องเล่าแตกแยกกัน ไม่ปะติดปะต่อ ก็รวบรวมกันได้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

แม้ว่าถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่าทั้งหมดเป็นไปเพื่อเสริมบารมีเทพองค์อื่นต่างหาก แต่ก็เฉพาะคนที่เป็นนักปราชญ์จริงๆ เท่านั้นละครับจึงจะรู้ได้

ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว ไม่ติดใจสงสัยแต่อย่างใด ออกจะพอใจด้วยซ้ำ 

เมื่อต่างคนต่างผูกเทพนิยายไปตามเงื่อนไข เหตุปัจจัย และกาลเวลาที่แตกต่างกันเช่นนี้มากเข้า เทวปกรณ์ของเทพเจ้าองค์สำคัญแต่ละองค์ ก็เลยพลอยสับสน หาความแน่นอนไม่ได้

อย่างเทพองค์เดียวกัน ยุคหนึ่งเมืองหนึ่งว่าไปอย่างหนึ่ง อีกยุคหนึ่งอีกเมืองหนึ่งว่าไปอีกอย่างหนึ่ง ก็มีนะครับ

เช่น ในเทวปกรณ์ของเมืองหนึ่ง กล่าวว่าเทวีองค์หนึ่งทรงเป็นชายาของเทพองค์หนึ่ง อีกเมืองว่าเป็นพระมารดาซะงั้น

หรือล่วงไปอีกยุคหนึ่ง อีกเมืองหนึ่ง อาจจะว่าเป็นพระธิดาก็ได้

ความสับสนเช่นนี้ จึงมีอยู่ทั่วไปในเทววิทยาไอยคุปต์ และที่จริงก็มีอยู่ในเทววิทยาของชนชาติอื่นๆ ทั่วไปนะครับ ที่เห็นได้ชัดก็คือ อินเดียและจีน

ดังนั้น ผู้ศึกษาเทววิทยาอียิปต์ จึงควรทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของเทววิทยาสากลเสียก่อนว่า 

เทวปกรณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่งขึ้น เพื่ออธิบายเรื่องของเทพเจ้า ตามเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุด คือเงื่อนไขทางการเมืองการปกครอง

เพราะในสมัยโบราณนั้น ไม่ว่าชนชาติใด ย่อมถือเอาศาสนาเป็นหลักแห่งการบริหารบ้านเมือง ทั้งนั้นแหละครับ




เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อความต่างๆ ในเทวปกรณ์หรือเทพนิยาย จึงย่อมมีความสับสน แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสถานที่

ไม่เป็นมาตรฐาน และไม่เป็นเรื่องที่ควรเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง หรือเป็นไปตามนั้นจริงๆ แต่แม้กระนั้นก็เป็นเรื่องที่ควรศึกษาให้เข้าใจ

เพราะถึงจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยมนุษย์อย่างเราๆ แต่นักบวชผู้รจนาเทวปกรณ์เหล่านั้น ก็มิได้แต่งทุกสิ่งทุกอย่างขึ้น จากจินตนาการและความเพ้อฝันเท่านั้นหรอกครับ

หากแต่ได้เรียบเรียงขึ้น จากสิ่งที่วางอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงทั้งสิ้น แล้วจึงได้เพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ เข้าไป เพื่อให้เรื่องราวสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกัน

ฉะนั้น ในเทวปกรณ์เหล่านั้นเอง จึงย่อมมีสารัตถะแห่งความเป็นจริงซ่อนอยู่

การแยกแยะกลั่นกรองสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปภายหลังออก จนค้นพบสารัตถะแห่งความจริงเหล่านั้น ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การเข้าถึง ทิพยภาวะ (Divinity) ที่แท้จริงขององค์เทพครับ


............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

มงคลและอัปมงคล

  * วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา * ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโ...