ศาสนาอียิปต์โบราณ ไม่มีศาสดาองค์ใดเป็นผู้ริเริ่ม
ไม่มีศาสดาองค์ใดอ้างว่าได้ฟังมา หรือเป็นผลจากการค้นคว้าด้วยปัญญาญาณ
แต่เกิดขึ้น เพราะการสั่งสมความรู้ที่ได้จากการเข้าถึงสภาวะเร้นลับต่างๆ
ในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางเทววิทยา (Theology)
ว่ากันตามสภาพภูมิศาสตร์
อาณาจักรอียิปต์โบราณนั้น แบ่งเป็นอียิปต์บน (Upper Egypt) และอียิปต์ล่าง
(Lower Egypt) ตามทิศทางการไหลของแม่น้ำไนล์ (Nile) เป็นเกณฑ์
ดังนั้นเมื่อดูจากแผนที่
ส่วนที่เป็นอียิปต์ล่างจะอยู่ตอนบน เพราะแม่น้ำไนล์นั้นเกิดขึ้นบริเวณที่ราบสูงเอธิโอเปียแล้วไหลออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศเหนือ
อารยธรรมอียิปต์ เกิดขึ้น ณ
ริมฝั่งแม่น้ำที่ยาวถึง 6,400 กิโลเมตรนี้ละครับ
และได้รับผลจากความอุดมสมบูรณ์ภายหลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ทุกปีจนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด
จึงได้รับการขนานนามว่า ของขวัญแห่งแม่น้ำไนล์ (Gift of the Nile)
แม่น้ำไนล์คือสายธารแห่งการก่อเกิดและดับสูญ
ทิศตะวันออกของแม่น้ำ คือการถือกำเนิด
ดังนั้นบ้านเมืองและอารยธรรมทั้งหมดจึงตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตะวันออก
ทิศตะวันตกคือการจบสิ้น
ริมน้ำฝั่งตะวันตกจึงไม่มีผู้อยู่อาศัย มีแต่สุสาน และพีระมิด
ในขณะเดียวกัน
เมื่อภูมิประเทศที่เหลือเป็นทะเลทราย ชาวอียิปต์โบราณก็ประจักษ์ว่า
พลังอำนาจอันไม่มีประมาณของดวงอาทิตย์นั้น ย่อมเป็นเหตุปัจจัยของการเกิด
การดำรงอยู่ และการสูญสิ้นไปของสรรพสิ่ง
เมื่อดวงอาทิตย์ทอแสงยามเช้า
ทุกชีวิตก็สดชื่นและเคลื่อนไหว เมื่อดวงอาทิตย์โคจรข้ามขอบฟ้าจนลับหายไป
ทุกชีวิตก็หยุดนิ่งอยู่ในท่ามกลางความมืดอันน่าสะพรึงกลัว ด้วยภยันตรายต่างๆ
จากสภาพแวดล้อมในทะเลทราย
เมื่อวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ มีความผูกพันกับแม่น้ำไนล์
และพระอาทิตย์เป็นหลัก ลัทธิศาสนาของอียิปต์จึงมีพื้นฐานอยู่บนสองสิ่งนี้แหละครับ
แต่แม่น้ำไนล์ ก็กลับมิได้มีความสำคัญในแง่ศาสนาเท่ากับดวงอาทิตย์
แม้ว่าจะมีเทพประจำแม่น้ำ คือ เทพฮาปี (Hapi)
แต่ก็ทรงเป็นเทพแห่งน้ำท่วมมากกว่าแม่น้ำปกติ และเทพองค์นี้ก็มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเทพผู้ยิ่งใหญ่องค์อื่นน้อยมากครับ
ไม่มีเทวสถานที่สร้างสำหรับพระองค์เป็นการเฉพาะด้วยซ้ำไป
ความสำคัญของแม่น้ำไนล์ในทางศาสนาอียิปต์ เป็นแต่เครื่องรองรับเทวปกรณ์
(Mythology)
และพิธีกรรม มากกว่าจะได้รับการเคารพบูชาโดยตรงอย่างแม่น้ำคงคาในอินเดีย
ขณะที่เทพเจ้าผู้เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์
หรือสุริยเทพนั้นกลับมีอยู่มากมายหลายองค์ เพราะเทพเจ้าที่สำคัญมากๆ
ในศาสนาอียิปต์นั้นมักจะได้รับการยกย่องว่าทรงมีความเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับพระอาทิตย์ทั้งสิ้น
จนนักปราชญ์ทางศาสนาโบราณกล่าวว่า ศาสนาของชาวอียิปต์โดยเนื้อแท้เป็นการนับถือพระอาทิตย์
ที่สำคัญรองลงไปจากนี้ คือคณะเทพผู้ควบคุมโลกธาตุต่างๆ
และคณะเทพที่มีเศียรเป็นรูปสัตว์
เทพเหล่านี้มีจำนวนมากครับ
และปรากฏขึ้นตามเมืองต่างๆ กระจัดกระจายกันทั่วดินแดนอียิปต์
เทพองค์ใดเกิดขึ้นที่เมืองใด ก็ได้รับการนับถือโดยประชาชนของเมืองนั้น
และดินแดนใกล้เคียง
เทพของเมืองที่ใหญ่กว่า
จึงมีพรมแดนแห่งการสักการบูชามากกว่า
เทพของเมืองเล็กก็มีขอบเขตแห่งการนับถืออยู่เฉพาะเมืองเล็ก
และเทพที่เป็นใหญ่อยู่ในแถบอียิปต์บน
ก็มิได้รับความศรัทธาไกลไปถึงอียิปต์ล่าง สภาวการณ์เช่นนี้
เป็นมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์
ต่อมา เมื่ออาณาจักรอียิปต์บนและล่าง ถูกรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรัชสมัย
ฟาโรห์เมเนส (Menes : ประมาณ 3,150 ปีก่อนคริสตกาล)
ฟาโรห์พระองค์นี้จึงได้ทรงจัดระเบียบการนับถือเทพเจ้าเสียใหม่เป็นอันมาก และเทพเจ้าหลายองค์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็ปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยนี้เอง
แต่หลังจากยุคสมัยของพระองค์เป็นต้นมา
บรรดาเมืองต่างๆ ภายในอาณาจักรต่างก็ยังคงมีเทพเจ้าเป็นของตนเอง
มีคติความเชื่อและพิธีกรรมเป็นของตนเองโดยเฉพาะ จนสิ้นอารยธรรมอียิปต์
ดังนั้น การที่เรามักถูกนักอียิปต์วิทยารุ่นเก่าๆ
ชักนำให้เข้าใจผิดกันมาตลอดว่า เทพเจ้าองค์สำคัญหลายองค์ที่เรารู้จักกันอยู่นั้น
เป็นที่นับถือกันทั่วไปทุกหนแห่งตลอดผืนแผ่นดินอียิปต์ ความจริงแล้วไม่ใช่หรอกครับ
เทพเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ตามที่เรารู้จักกัน
ก็เพราะทรงเป็นเทพของนครที่ใหญ่โต มีอิทธิพลทางการเมืองมากเท่านั้น
พ้นจากขอบข่ายแห่งอิทธิพลและอำนาจของนครดังกล่าว การยอมรับนับถือเทพเจ้าเหล่านั้นก็ผ่อนคลายลงไปด้วย
และแม้แต่ในนครใหญ่ที่นับถือแทพเหล่านั้น
ก็มีหลายองค์นะครับ ที่มีแต่ชนชั้นสูงเคารพนับถือกัน ในขณะที่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วๆ
ไป จะบูชาเทพชั้นรองกว่า
อีกทั้งถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว
การที่เทพเหล่านั้นทรงมีชื่อเสียงมีความสำคัญตลอดมาจนถึงยุคสมัยของเรา
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกกรีก-โรมัน ซึ่งรับคติการบูชาเทพเหล่านั้นมา
แล้วฝรั่งตะวันตกก็สืบทอดมาอีกต่อหนึ่งนั่นเอง
การนับถือเทพที่แตกต่างกันไปในแต่ละดินแดนอย่างนี้
ในทางหนึ่ง ก็เป็นปัญหาทางการเมืองการปกครองของอาณาจักรอียิปต์เองเหมือนกันนะครับ
เพราะเมื่อบูชาเทพคนละองค์กัน
ย่อมทำให้รู้สึกว่า เป็นคนละหมู่คนละพวก หากมีการขัดแย้งกันขึ้น
ก็ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกัน
ใครเข้มแข็งกว่าก็ตั้งตัวเป็นใหญ่
บางทีอาจถึงแข่งขันกับศูนย์อำนาจหลักในขณะนั้น
ความแตกแยกของอาณาจักรก็บังเกิดได้โดยง่าย
เพราะเหตุนี้ คณะนักบวชของเทพประจำนครใหญ่
หรือนครหลวงที่เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครองในแต่ละยุคสมัย จึงจำเป็นต้องผูกเทพนิยาย
หรือเทวปกรณ์ขึ้นมา
เพื่อรวบรวมคติการนับถือเทพที่กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ
เข้ามาอยู่ในลัทธิศาสนาของตน
เป็นกุศโลบาย ที่จะทำให้วิถีแห่งศรัทธาของผู้คนในอาณาจักร
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไงครับ
ยุคสมัยใด
ฟาโรห์พระองค์ใดนับถือเทพองค์ใดเป็นใหญ่ นักบวชก็แต่งเทพนิยายผูกเอาเทพองค์อื่นเข้ามารวมกับเทพองค์นั้น
ให้มีบทบาทมีเรื่องราวต่างๆ สอดคล้องต่อเนื่อง
แต่ในท้ายที่สุด ก็เพื่ออาศัยบารมีของเทพประจำนครที่เล็กกว่า มาช่วยหนุนเทพของตน ให้มีเทวอำนาจมีทิพยภาวะยิ่งใหญ่ขึ้น
แต่ในท้ายที่สุด ก็เพื่ออาศัยบารมีของเทพประจำนครที่เล็กกว่า มาช่วยหนุนเทพของตน ให้มีเทวอำนาจมีทิพยภาวะยิ่งใหญ่ขึ้น
การกระทำเช่นนี้
ในแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นการให้ความสำคัญ แก่เทพประจำนครเล็กๆ เหล่านั้นด้วยครับ
เพราะเทพพื้นเมืองบางองค์ไม่เคยมีบทบาทอะไรเลย
ก็กลับมีฐานะอันเด่นชัด มีอำนาจบารมีมากขึ้น
หรือบางองค์เคยมีเรื่องเล่าแตกแยกกัน ไม่ปะติดปะต่อ
ก็รวบรวมกันได้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน
แม้ว่าถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่าทั้งหมดเป็นไปเพื่อเสริมบารมีเทพองค์อื่นต่างหาก
แต่ก็เฉพาะคนที่เป็นนักปราชญ์จริงๆ เท่านั้นละครับจึงจะรู้ได้
ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว ไม่ติดใจสงสัยแต่อย่างใด ออกจะพอใจด้วยซ้ำ
เมื่อต่างคนต่างผูกเทพนิยายไปตามเงื่อนไข
เหตุปัจจัย และกาลเวลาที่แตกต่างกันเช่นนี้มากเข้า
เทวปกรณ์ของเทพเจ้าองค์สำคัญแต่ละองค์ ก็เลยพลอยสับสน หาความแน่นอนไม่ได้
อย่างเทพองค์เดียวกัน
ยุคหนึ่งเมืองหนึ่งว่าไปอย่างหนึ่ง อีกยุคหนึ่งอีกเมืองหนึ่งว่าไปอีกอย่างหนึ่ง
ก็มีนะครับ
เช่น ในเทวปกรณ์ของเมืองหนึ่ง กล่าวว่าเทวีองค์หนึ่งทรงเป็นชายาของเทพองค์หนึ่ง
อีกเมืองว่าเป็นพระมารดาซะงั้น
หรือล่วงไปอีกยุคหนึ่ง อีกเมืองหนึ่ง
อาจจะว่าเป็นพระธิดาก็ได้
ความสับสนเช่นนี้ จึงมีอยู่ทั่วไปในเทววิทยาไอยคุปต์
และที่จริงก็มีอยู่ในเทววิทยาของชนชาติอื่นๆ ทั่วไปนะครับ ที่เห็นได้ชัดก็คือ อินเดียและจีน
ดังนั้น ผู้ศึกษาเทววิทยาอียิปต์
จึงควรทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของเทววิทยาสากลเสียก่อนว่า
เทวปกรณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่งขึ้น เพื่ออธิบายเรื่องของเทพเจ้า ตามเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุด คือเงื่อนไขทางการเมืองการปกครอง
เทวปกรณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่งขึ้น เพื่ออธิบายเรื่องของเทพเจ้า ตามเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุด คือเงื่อนไขทางการเมืองการปกครอง
เพราะในสมัยโบราณนั้น
ไม่ว่าชนชาติใด ย่อมถือเอาศาสนาเป็นหลักแห่งการบริหารบ้านเมือง ทั้งนั้นแหละครับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อความต่างๆ
ในเทวปกรณ์หรือเทพนิยาย จึงย่อมมีความสับสน แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสถานที่
ไม่เป็นมาตรฐาน
และไม่เป็นเรื่องที่ควรเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง หรือเป็นไปตามนั้นจริงๆ
แต่แม้กระนั้นก็เป็นเรื่องที่ควรศึกษาให้เข้าใจ
เพราะถึงจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยมนุษย์อย่างเราๆ
แต่นักบวชผู้รจนาเทวปกรณ์เหล่านั้น ก็มิได้แต่งทุกสิ่งทุกอย่างขึ้น จากจินตนาการและความเพ้อฝันเท่านั้นหรอกครับ
หากแต่ได้เรียบเรียงขึ้น จากสิ่งที่วางอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงทั้งสิ้น
แล้วจึงได้เพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ เข้าไป เพื่อให้เรื่องราวสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกัน
ฉะนั้น ในเทวปกรณ์เหล่านั้นเอง จึงย่อมมีสารัตถะแห่งความเป็นจริงซ่อนอยู่
การแยกแยะกลั่นกรองสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปภายหลังออก
จนค้นพบสารัตถะแห่งความจริงเหล่านั้น ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การเข้าถึง ทิพยภาวะ
(Divinity)
ที่แท้จริงขององค์เทพครับ
............................
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น