วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ประติมานวิทยาไอยคุปต์




มีการถกเถียงกันมากครับ เกี่ยวกับเทพเจ้าอียิปต์โบราณหลายองค์ที่มีพระเศียรเป็นสัตว์ หรือปรากฏพระองค์ในรูปสัตว์ ซึ่งมักเป็นสัตว์ที่เราพบเห็นได้จริงๆ

มีน้อยมากนะครับ ที่จะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย

ตามทฤษฎีเก่าแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากลัทธิการบูชาสัตว์ครับ

กล่าวคือ เมื่อมนุษย์สมัยโบราณมองเห็นความสามารถ และคุณสมบัติโดดเด่นของสัตว์ชนิดใด ก็บูชาสัตว์ชนิดนั้นเพื่อให้ได้รับ พลัง อย่างเดียวกัน แล้วมนุษย์ก็ยกให้พวกมันเป็นเทพเจ้า

คติความเชื่อเช่นนี้ปรากฏในโลกโบราณทั่วๆ ไปครับ

ที่เห็นได้ชัดก็เช่น การบูชาวัวในอินเดีย ซึ่งยังทำกันอยู่แม้ในเวลานี้

ซึ่งนักศาสนศาสตร์รุ่นเก่าก็มักอธิบายว่า คติเช่นนี้มีอยู่ในอียิปต์เช่นกัน

แต่นักเทววิทยายุคปัจจุบันมองว่า ลัทธิการบูชาสัตว์ของอียิปต์นั้น สมควรจะต้องได้รับการอธิบายเสียใหม่

ทั้งนี้เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ชาวอียิปต์มิได้บูชาสัตว์เพราะว่ามันเป็นสัตว์ เช่นมิได้บูชาเหยี่ยวเพราะว่ามันเป็นเหยี่ยว มิได้บูชาแมวเพราะว่ามันเป็นแมว นะครับ

พวกเขาเพียงแต่ บูชาพลังอำนาจอันเร้นลับและมหัศจรรย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยอาศัยสัตว์เหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ ต่างหาก

ยกตัวอย่างก็คือ คนอียิปต์โบราณใช้ เหยี่ยว เป็นสัญลักษณ์แทนความสูงส่ง ความสง่าน่าเกรงขาม ความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้พิชิต

เพราะโดยธรรมชาติของเหยี่ยวนั้น เป็นสัตว์ที่บินสูง มันคอยมองเหยื่อจากกลางอากาศ แล้วเมื่อพบก็โฉบลงจับเป้าหมายของมันได้โดยไม่ผิดพลาด กรงเล็บอันแข็งแกร่งของมันพันธนาการเหยื่ออย่างไม่มีโอกาสดิ้นหลุด




และตามสภาพภูมิศาสตร์ของอียิปต์แล้ว เหยี่ยวเป็นนกที่ดูสง่างามยิ่งกว่านกชนิดใดๆ ที่รู้จักกัน

วัวก็เช่นกันครับ

คนอียิปต์ใช้มันเป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้า การให้ การหล่อเลี้ยง และพลังชีวิต

เพราะวัวตัวหนึ่ง ให้ทั้งน้ำนม เนื้อ หนัง และเขา เป็นสัตว์สารพัดประโยชน์ยิ่งกว่าสัตว์ชนิดใดๆ ที่จะเลี้ยงกันได้ในแถบโอเอซิสของทวีปแอฟริกา

วิธีคิดเช่นนี้ ก็คือการแทนสิ่งต่างๆ ที่เป็นนามธรรม ด้วยสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ และเห็นตรงกันไงครับ

เหยี่ยวคือความยิ่งใหญ่ วัวคือการหล่อเลี้ยง จระเข้คือผู้รักษากฎของแม่น้ำ กบคือความอุดมสมบูรณ์ สุนัขไนคือความตาย (เพราะมันชอบเที่ยวคุ้ยซากศพกิน) สิงโตคือพละกำลัง แมงป่องและงูคืออันตรายน่าสะพรึงกลัว ฯลฯ




ด้วยเหตุนี้ชาวอียิปต์จึงนำสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์ หรือรูปบูชาแทนสิ่งที่เป็นนามธรรม เปรียบเสมือนเราเอาพระพุทธรูปมาเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เอาล้อเกวียนมาเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมนั่นแหละครับ

เรามิได้กราบไหว้พระพุทธรูป โดยเห็นว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราก็มิได้บูชาพระธรรมจักร เพราะคิดว่านั่นคือล้อเกวียนแต่อย่างใด

เมื่อคนอียิปต์แทนพลังนามธรรมต่างๆ ด้วยสัญลักษณ์ที่เป็นรูปสัตว์ดังกล่าวแล้ว ต่อมาพวกเขาจึงค้นพบว่า พลังทางนามธรรมต่างๆ ที่พวกเขานับถือกันอยู่นั้น ล้วนแต่มีเทพเจ้าคอยกำกับอยู่ และเทพเจ้าก็มีรูปร่างลักษณะอย่างมนุษย์นั่นเอง

พวกเขาจึงพัฒนาการทำรูปเคารพ หรือเทวรูปต่างๆ ขึ้น โดยเอาลักษณะทางกายภาพของมนุษย์มาปรุงแต่งดัดแปลงตามรสนิยม ทัศนคติ และความชำนาญทางศิลปกรรม จนก่อเกิดรูปแบบที่เป็นอุดมคติ (Idealistic) ขึ้น

รูปแบบที่เป็นอุดมคติเช่นนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานในการสร้างเทวรูป และบุคคลศักดิ์สิทธิ์ครับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ จากจิตรกรรมไอยคุปต์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ รูปอุดมคติของบุคคลในจิตรกรรมเหล่านั้น จะต้องแสดงออกเป็นสองมิติ และไม่สนใจที่จะเลียนแบบของจริง




ช่น ทำให้มองเห็นศีรษะและใบหน้าด้านข้าง ดวงตาด้านหน้า ไหล่ด้านหน้า แขนและมือด้านข้าง ลำตัวด้านหน้า สะโพกด้านข้าง ขาและเท้าทั้งสองด้านข้าง และการวางท่าทางที่เป็นมุมหัก เป็นต้น

แต่เมื่อทำเทวรูปของเทพเจ้ามากองค์เข้า ก็เกิดปัญหาละครับ

ในเมื่อสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ล้วนแต่มีเทพต่างองค์กันควบคุม แล้วถ้าสร้างเทวรูปเป็นแบบอุดมคติ ซึ่งโดยข้อจำกัดทางทางศิลปกรรม จะทำให้รูปร่างหน้าตาเหมือนกันไปหมดแล้ว

จะทำอย่างไรให้รู้ว่า เป็นเทพองค์ไหน ทรงมีเทวานุภาพและคุณสมบัติในด้านใดกันล่ะ?

คำตอบที่ชาวอียิปต์โบราณคิดได้ก็คือ นำรูปสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังนามธรรม ที่เทพองค์ใดกำกับอยู่นั่นแหละบ เข้าไป “รวม” กับเทพองค์นั้น

เพราะฉะนั้น ชาวอียิปต์จึงเปลี่ยนเศียรของเทพต่างๆ ให้เป็นรูปสัตว์ เพื่อจะได้แสดงออกว่าเป็นเทพที่มีคุณสมบัติอย่างไร มีเทวานุภาพอย่างไร เกี่ยวข้องกับสิ่งไหน

เช่น เทพที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอำนาจเหนือผู้อื่น ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวนกเหยี่ยว




เทพที่ทรงควบคุมเรื่องเกี่ยวกับความตาย ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวสุนัขไน

เทพที่เป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง และความดุร้ายเหี้ยมเกรียม ก็แทนที่พระเศียรของเทพองค์นั้นด้วยหัวสิงโต ฯลฯ

เป็นการแสดงความหมายขององค์เทพ ด้วยรูปแบบทางศิลปกรรรม ซึ่งรียกกันว่า ประติมานวิทยา (Iconography) เท่านั้น มิได้หมายความว่า เทพองค์นั้นทรงมีพระเศียรเป็นสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ ครับ

นอกจากแทนพระเศียรขององค์เทพด้วยสัตว์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่เทวะองค์นั้นทรงอุปถัมภ์มาแต่เดิมแล้ว ชาวอียิปต์ก็ยังมีวิธีการอื่นอีก




เช่น เมื่อค้นพบความจริงว่า พลังนามธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ ซึ่งแทนด้วยแม่วัวนั้น แท้ที่จริงมีเทพนารีอยู่องค์หนึ่งที่ทรงควบคุมอยู่ แทนที่จะเอาหัววัวเข้าแทนพระเศียรเทวรูปเทวีองค์นั้น ก็เอาเฉพาะเขาวัวมาทำเป็นศิราภรณ์ของเทวีองค์นั้นแทน เป็นการพลิกแพลงเทคนิคในทางศิลปกรรมไปอีกแบบหนึ่ง

หรือถ้าเป็นเทพนารีที่ทรงมีพระเทวานุภาพร้ายแรง ซึ่งเดิมใช้แมงป่องเป็นสัญลักษณ์ ก็เอารูปแมงป่องไปไว้เหนือพระเศียรเทวรูปเทวีองค์นั้น นี่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง




และต่อไปถ้าจะทำพระเทวรูปเทวีองค์นั้น จะทำศิราภรณ์เป็นแมงป่องก็ได้ ทำเป็นรูปแมงป่องทั้งตัวก็ได้ หรือจะเป็นรูปแมงป่องที่มีหัวเป็นเศียรเทวีองค์นั้นก็ได้ครับ

เทพบางองค์ แสดงคุณสมบัติอย่างตรงไปตรงมา เช่นองค์เทพ เคพรี (Khepri) ผู้สร้างโลก

โดยปกติ คนอียิปต์ใช้แมลงสคาแร็บ (Scarab) เป็นสัญลักษณ์แทนการสร้างโลก เพราะแมลงสคาแร็บชอบเอามูลสัตว์มาปั้นเป็นก้อนกลม แล้วพากลิ้งข้ามเนินทรายกลับไปที่รังเพื่อวางไข่

จักรวาลวิทยาอียิปต์ มองว่าโลกเราเกิดขึ้นมาด้วยลักษณาการที่คล้ายกันนี้

พอจะทำเทวรูปเทพเคพรีผู้สร้างโลก จึงต้องทำรูปสคาแร็บประกอบไว้ด้วย




แต่แทนที่จะเขียนรูปสคาแร็บวางไว้บนพระเศียร ก็เปลี่ยนเป็นเอาสคาแร็บทั้งตัวปะลงไปบนพระพักตร์

ที่ทำอย่างนี้ เพราะเหตุว่าในศิลปะอียิปต์ รูปแมลงทุกชนิดเขาจะไม่เขียนด้านข้าง จะเขียนเป็นรูปด้านตรงเสมอครับ 

แต่เหตุใดจึงไม่เขียนพระพักตร์ขององค์เทพเคพรีตามปกติ แล้วเอารูปด้านตรงของสคาแร็บไปไว้เหนือพระเศียร? แทนก็ยังไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้

ต่อมา เมื่อชาวอียิปต์พัฒนาการใช้อักษรภาพ ที่เรียกกันว่า ไฮโรกลิฟส์ (Hieroglyphs) มีความชำนาญในการสร้างสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยรูปสัตว์จริงๆ เป็นสื่อ

สัญลักษณ์หรืออักษรภาพเหล่านั้น ก็ถูกนำไปไว้เหนือพระเศียรขององค์เทพ เพื่อแสดงว่าทรงมีคุณสมบัติหรือเทวานุภาพในด้านใด




เช่นกรณีของ พระเทวีไอซิส (Isis) ที่ทรงมีสัญลักษณ์รูปบัลลังก์อยู่เหนือพระเศียร

หรือ เทวีเนฟธิส (Nephthys) ที่มีอักษรภาพซึ่งแปลความได้ว่า Lady of the Palace อยู่เหนือพระเศียร

ประติมานวิทยาเหล่านี้ มักใช้กับเทพเจ้าที่ชนชั้นสูงนับถือ เพราะว่าคนชั้นสูงอ่านหนังสือออกนั่นเอง

แต่เทพที่ทรงมีเศียรเป็นสัตว์ หรือมีรูปสัตว์อยู่เหนือพระเศียร กี่ยุคกี่สมัยก็ยังทำเหมือนเดิมแหละครับ และบางทีก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้สัญลักษณ์อื่นๆ ได้อีก

กรณีหลังนี้ มักพบเฉพาะในสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้คนสามัญได้เข้าไปรู้เห็น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีสื่อความหมายทางประติมานวิทยา ซึ่งชาวอียิปต์คิดค้นขึ้นด้วยความสามารถของตนเองอย่างแท้จริงครับ

โดยวิธีการเช่นนี้ แม้ผู้ที่ได้พบเห็นพระเทวรูปของเทพองค์นั้นๆ จะไม่มีความรู้มาก่อนว่าทรงเป็นเทพอะไร ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ทรงมีเทวานุภาพและคุณสมบัติในด้านใด

นับว่าเป็นวิธีที่ชาญฉลาดมากเท่าที่คนสมัย 5,000 ปีมาแล้วจะคิดได้


------------------


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

2 ความคิดเห็น:

  1. เคยเห็นภาพที่คนสมัยใหม่ทำท่า "เป็นมุมหัก" ล้อเลียนศิลปะอียิปต์โบราณ...ดูแล้วไม่คิดว่าตลก แต่ยังสงสัยว่าจะทำให้เกิดอาถรรพณ์ใดๆ หรือเปล่า?

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าไปทำใกล้ๆ รูปเทพเจ้าในโบราณสถาน ก็โดนอาถรรพณ์แน่ครับ เพราะรูปภาพเหล่านั้นเขาลงอาคมไว้

      ลบ

มงคลและอัปมงคล

  * วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา * ผมเคยอ่านโพสต์ใน facebook ของซินแสฮวงจุ้ยท่านหนึ่ง ท่านแนะนำว่า รูปภาพและสิ่งของที่ทำเลียนแบบโ...