อียิปต์เป็นดินแดนแห่งพีระมิด
ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปร่างแปลกประหลาดที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
ทั่วทั้งอียิปต์ มีพีระมิดอยู่ประมาณ 120 กว่าแห่ง ทั้งหมดตั้งเรียงรายกันอยู่เฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์
ซึ่งถือกันว่าเป็นทิศสำหรับผู้วายชนม์
ในบรรดาพีระมิดทั้งหมด
กลุ่มมหาพีระมิดแห่งกิซา (Giza) ชานกรุงไคโร
นับว่าเป็นที่ประทับใจคนทั่วโลกมากที่สุดครับ
เพราะมันไม่เพียงเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์
และเคยได้รับการยกย่องว่าใหญ่โตที่สุดในโลกโบราณเท่านั้น
แต่ยังน่าจะเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์ด้วย
นักโบราณคดีเชื่อกันว่า พีระมิดทั้ง 3 องค์นี้ เป็นที่เก็บพระศพของ 3
กษัตริย์ในราชวงศ์ที่ 4 พีระมิดหลังใหญ่ที่สุดเป็นของ ฟาโรห์คูฟู
(Khufu : พระนามกรีกคือ คีอ็อพส์ Cheops) อีกสององค์เป็นของ ฟาโรห์คาเฟร (Khafre : พระนามกรีกคือ
คีเฟรน Chefren) และ ฟาโรห์เมนเคาเร (Menkaure
: พระนามกรีกคือ ไมเซอรินุส Mycerinus)
โดยคิดกันว่า องค์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดนั้น
สร้างขึ้นเมื่อ 2,570 ปีก่อนคริสตกาล
กล่าวในทางวิศวกรรมแล้ว วิธีการก่อสร้างมหาพีระมิด
ด้วยการยกแท่งหินขนาดใหญ่หนักหลายสิบตัน เพื่อประกอบขึ้นเป็นมหาพีระมิดอย่างแม่นยำ
ยังคงเป็นปริศนา โครงสร้างเหนือ "ห้องพระราชา" ในพีระมิดตูฟู ประกอบด้วยแท่งหินแกรนิตสีแดงขนาดใหญ่หลายสิบแท่ง
ซ้อนทับกัน 5 ชั้น แต่ละแท่งมีน้ำหนัก 50 ถึง 70 เมตริกตัน
โดยเฉพาะ
แท่งหินขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่พีระมิดกิซา ที่พบอยู่ภายในเทวสถานข้างพีระมิดเมนเคาเรนั้น
เป็นแท่งหินปูนที่มีน้ำหนักมากถึง 200 เมตริกตัน
ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีเพียงปั้นจั่นเพียงไม่กี่ตัวในโลกนะครับ
ที่สามารถยกก้อนหินหนักขนาดนี้ได้ โดยในการยกแต่ละครั้ง
จะต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นเดือน
แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในยุคที่คิดกันว่า
มหาพีระมิดแห่งกิซาถูกสร้างขึ้นนั้น ยังไม่มีปั้นจั่น หรือเครื่องทุ่นแรงใดๆ การลำเลียงหินหนักขนาดนี้นับพันๆ
ก้อนในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการก่อสร้าง จึงยังคงมีแต่คำถามที่ว่า
ทำได้อย่างไร?
แนวคิดแรกเริ่มเชื่อกันว่า
ชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีสร้างทางลาดบริเวณด้านข้างของพีระมิด
และชักลากหินขึ้นตามทางลาดที่ก่อสูงขึ้นเรื่อยๆ
ตามความสูงของระดับการก่อสร้างจนถึงจุดสูงสุด และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ
จึงทำการรื้อทางลาดดังกล่าวออก คงเหลือไว้แต่พีระมิด
ถ้าแนวคิดนี้เป็นจริง
สิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นอาจไม่ใช่พีระมิดคูฟู
แต่อาจเป็นทางลาดสูงเท่าตึก 40
ชั้นที่ใช้ก่อสร้างพีระมิดนั่นแหละครับ
มีแนวคิดอื่นๆ เสนอว่า
ทางลาดดังกล่าวอาจไม่ได้สร้างอยู่ด้านใดด้านหนึ่งข้างพีระมิด
แต่อาจสร้างเป็นทางวนรอบพีระมิดแทน
หรืออาจบางที
แต่ละชั้นของพีระมิดนั่นเองคือทางที่ใช้ชักลากหินขึ้นสู่ชั้นถัดไป
ผ่านทางลาดขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแต่ละชั้น
ซึ่งในทางวิศวกรรม แนวคิดเหล่านี้ล้วนเป็นไปไม่ได้ครับ
โดยเฉพาะทางลาดที่วนรอบมหาพีระมิด ถ้ามิได้ก่อสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงเท่ามหาพีระมิด
มันก็จะพังลงมาในระหว่างการก่อสร้าง ด้วยน้ำหนักของมันเอง
และยังไม่ต้องพูดถึงโครงสร้างของมัน
ซึ่งจะบังโครงสร้างของมหาพีระมิด
จนวิศวกรไม่มีทางที่จะควบคุมและคำนวณการเรียงหินในพื้นที่แต่ละด้าน
ด้วยความแม่นยำอย่างเหลือเชื่อ ดังที่เห็นกันอยู่
ไม่เพียงการลำเลียงหินขึ้นประกอบเป็นพีระมิดเท่านั้น
เทคนิคในการประกอบหินแต่ละก้อน ก็น่าอัศจรรย์ใจเช่นกัน
เนื่องจากในการก่อสร้างพีระมิด
ไม่มีการใช้วัสดุเชื่อมประสาน
หินแต่ละก้อนวางซ้อนกันอยู่ได้ด้วยน้ำหนักกดทับด้านบน
และระนาบที่เท่ากันในแต่ละชั้น จึงต้องตัดแต่งหินกันอย่างประณีตแบบก้อนต่อก้อน
ก่อนประกอบเข้าสู่ตำแหน่ง
การกระทำเช่นนี้ จะดูเหมือนง่ายครับ
ถ้าไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ณ เวลานั้น
โลกยังไม่เข้าสู่ยุคเหล็ก เทคโนโลยีการถลุงเหล็กยังไม่ถูกพัฒนาขึ้น จนกระทั่งอีก 1 พันปีต่อมา
ดังนั้น เครื่องมือโลหะที่ดีที่สุด
ที่น่าจะมีใช้ในสมัยนั้น ล้วนแต่ทำด้วยทองแดง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากต้องการตัดหินปูนและหินแกรนิต
ให้ได้ขนาดและรูปทรงตามต้องการ
แต่ช่างหินผู้สร้างมหาพีระมิด ก็สามารถรังสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยม
จนผิวสัมผัสระหว่างหินแต่ละก้อนห่างกันเพียง 0.02 นิ้วเท่านั้น
ภายหลังจากการนำเสนอทฤษฎีต่างๆ
ซึ่งในที่สุดก็ล้มพับไปอย่างต่อเนื่อง
ผลจากการศึกษาค้นคว้าที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า
โครงสร้างของมหาพีระมิดทั้งสามหลัง ทั้งภายนอกและภายใน แสดงถึงความรู้ทางวิศวกรรมชั้นสูง
เกินกว่าที่จะทำได้ในราชวงศ์ที่ 4
หรือทุกราชวงศ์ในอียิปต์โบราณ ที่เรารู้จักกันครับ
แถมยังมีหลักฐานจำนวนไม่น้อย
ที่รองรับข้อสันนิษฐานว่า ฟาโรห์ทั้งสามน่าจะทรงเป็นผู้ปฏิสังขรณ์มหาพีระมิด
มากกว่าเป็นผู้สร้าง
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ
มหาพีระมิดทั้งสามไม่ได้ใช้เป็นที่เก็บพระศพ
เพราะภายในมหาพีระมิดทั้งสาม
มีโครงสร้างที่ไม่เหมาะแก่การลำเลียง และบรรจุโลงศพเลยแม้แต่น้อย
แม้แต่ห้องที่ได้มีการตั้งชื่อภายหลังว่า
ห้องพระราชา และ ห้องพระราชินี นั้น ล้วนแต่เป็นห้องโล่งๆ
ที่ไม่มีสิ่งใดบอกเลยครับ ว่าจะใช้เป็นสุสาน
ผนังห้องทุกด้านว่างเปล่า
ปราศจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จำเป็นต้องมี (ถ้าหากว่ามันเป็นสุสานจริง) มีเพียงสิ่งก่อสร้างคล้ายโลงหิน
ซึ่งว่างเปล่ามาตั้งแต่มันถูกค้นพบครั้งแรก และไม่มีการแกะสลักตกแต่งอะไรทั้งสิ้น
นอกจากนี้
ไม่มีการค้นพบโบราณวัตถุอะไรในมหาพีระมิด ที่เก่าถึงยุค 2,570 ปีก่อนคริสตกาลด้วยซ้ำ
แถมยังมีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า
ตั้งแต่เมื่อชาวอาหรับได้บุกรุกเข้าไปในพีระมิดนี้เป็นครั้งแรก
ก็พบกับความว่างเปล่าทั้งหมดมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว
ปัจจุบัน มีผู้เสนอแนวคิดใหม่ๆ
ในการตรวจสอบอายุที่แท้จริงของพีระมิด ซึ่งผลที่ได้นั้นจะย้อนไปไกลกว่า 2,570 ปีก่อนคริสตกาลมากทีเดียวละครับ เช่น
1. นักดาราศาสตร์และวิศวกร โรเบิร์ต
บอวัล (Robert Bauval) กล่าวว่า
มหาพีระมิดทั้งสามไม่ได้สร้างโดยชาวอียิปต์ แต่สร้างโดยอารยธรรมที่เราไม่รู้จักเมื่อ 10,450 ปีก่อนคริสตกาล
เนื่องจากแผนผังของพีระมิดทั้งสามนั้น
เป็นการจำลองลักษณะของดาวฤกษ์ที่สุกสว่างที่สุด 3
ดวงในกลุ่มดาวโอไรออน (Orion) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สำคัญ
ในการคำนวณปฏิทินของชาวอียิปต์โบราณ
เนื่องจากรูปแบบการเรียงตัวของกลุ่มดาวดังกล่าวบนท้องฟ้า
จะเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่แน่นอน
ดังนั้น จากการคำนวณทางดาราศาสตร์สมัยใหม่
กลุ่มดาวดังกล่าวจะเรียงตัวเป็นรูปแบบที่ตรงกับมหาพีระมิดทั้งสามพอดี ในช่วงที่ วสันต์วิษุวัต
หรือ เวอร์นัล อีควีน็อกซ์ (Vernal Equinox) อยู่ในราศีสิงห์ เมื่อ 10,450 ปีก่อนคริสตกาล
ข้อสันนิษฐานนี้
สอดคล้องกับการประดิษฐานรูปสฟิงซ์ ไว้เบื้องหน้ามหาพีระมิดครับ
เพราะสฟิงซ์นั้นเดิมเป็นสิงโต เป็นสัญลักษณ์ของราศีสิงห์นั่นเอง
การสร้างสฟิงซ์จึงเป็นวิธีที่ผู้สร้างมหาพีระมิดทั้งสาม
ใช้ชี้นำคนรุ่นหลังให้ค้นพบช่วงเวลาที่แท้จริงในการสร้างมหาพีระมิดได้
ขณะที่หากจะยืนยันว่า มหาพีระมิดสร้างในราชวงศ์ที่
4 แผนภูมิของกลุ่มดาวโอไรออนในราชวงศ์ที่ 4
ก็ไม่สอดคล้องกับแบบแผนของมหาพีระมิด
และในราชวงศ์ที่ 4 นั้น เวอร์นัล อีควีน็อกซ์อยู่ในราศีมีน
2. นักธรณีวิทยา จอห์น แอนโธนี เวสต์
(John Anthony West) กล่าวว่า
เมื่อดูจากรอยกัดเซาะบนตัวสฟิงซ์ อันเกิดจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิสูจน์ได้ว่า
สฟิงซ์ถูกสร้างขึ้นเป็นเวลานานก่อนเริ่มอารยธรรมอียิปต์
เพราะเมื่อเริ่มอารยธรรมอียิปต์ขึ้นในราชวงศ์ที่
1 นั้น อียิปต์เป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับสภาพที่ฝนตกน้อย
และพายุทรายพัดจัดเช่นเดียวกับในปัจจุบันนี้แล้ว
ในขณะที่การสร้างสฟิงซ์นั้น
จะต้องเกิดขึ้นในสมัยที่ยังมีน้ำและฝนอุดมสมบูรณ์
จนทำให้สฟิงซ์ถูกน้ำฝนกัดเซาะเป็นเวลานานได้
ซึ่งนั่นต้องเป็นเวลาก่อน 10,000 ปีก่อนคริสตกาล
สำหรับจุดประสงค์ของการสร้างมหาพีระมิด
ซึ่งยังคงเป็นเรื่องลี้ลับที่สุดนั้น แม้จะตัดประเด็นการเป็นสุสานออกไปได้
แต่การจะสรุปว่าเป็นอะไรกันแน่นั้นก็ยังไม่มีข้อยุติครับ
ประเด็นหนึ่ง
ที่เป็นที่ยอมรับกันแล้วในทางวิทยาศาสตร์คือ
พีระมิดถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ วิศวกรรมโบราณ
และวิชาฟิสิกส์
โดยข้อมูลเหล่านั้นมิได้อยู่ในรูปเอกสาร
หรือบรรจุอยู่ในห้องลับต่างๆ ภายในพีระมิด
แต่เป็นข้อมูลที่แฝงอยู่ในโครงสร้างของมหาพีระมิดนั้นเอง
และถ้าความเก่าแก่ของการสร้างมหาพีระมิด
เป็นไปดังที่โรเบิร์ต บอวัล และจอห์น เวสต์ ยืนยัน ข้อสันนิษฐานนี้จะเข้ากันได้
กับคำกล่าวของชาวอาหรับโบราณที่ว่า พีระมิดนั้นเป็นที่เก็บรวบรวมความรู้ทั้งหมดก่อนน้ำท่วมโลก
แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เราจะได้จากมหาพีระมิดหรอกครับ
เพราะความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือ
มหาพีระมิดเป็นเครื่องมือทางเทวศาสตร์ ไม่น้อยไปกว่าวิทยาศาสตร์
มันไม่เพียงจะเป็นแหล่งเก็บความรู้ทางดาราศาสตร์
และฟิสิกส์โดยโครงสร้าง แต่ตัวมันเองอาจเป็นสิ่งที่จงใจสร้างเพื่อเป็นเครื่องเตือน
ให้คนรุ่นต่อไปทราบถึงยุคโลกาวินาศ
ซึ่งมาพร้อมกับน้ำท่วมโลกในสมัยที่มันถูกสร้างขึ้น
เพื่อการนี้
ผู้สร้างจึงได้บรรจุความรู้ที่จำเป็นทั้งหมด ลงบนโครงสร้างขนาดใหญ่
ที่จะคงทนไปชั่วเวลานานนับพันนับหมื่นปี
ไม่ใช่บรรจุไว้บนเอกสารที่เสื่อมสลายได้
หรือบรรจุไว้ในรูปตัวอักษร ซึ่งคนรุ่นหลังอาจจะอ่านไม่ออก
ด้วยเหตุดังกล่าว ไม่ว่าอารยธรรมของเรา
หรือหลังจากเรา จะเป็นอารยธรรมแบบวิทยาศาสตร์ หรือเทวศาสตร์
เราก็สามารถเข้าถึงความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในมหาพีระมิดได้ครับ
ถ้าเพียงแต่ เราจะเลิกมองว่ามันเป็นเพียงแค่
"สุสาน" เท่านั้น
……………………………
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
ยล็อกสวยค่ะ เนื้อหาก็น่าสนใจมาก
ตอบลบความรู้ใหม่อย่างแท้จริง ...พีระมิดเก่าแก่กว่าที่เราคิด
ขอบคุณครับ
ลบในทางโบราณคดี สิ่งที่เรารับรู้กันมาตลอด อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อเจอหลักฐานใหม่ๆ
แต่นักอียิปต์วิทยา เป็นคนกลุ่มสุดท้ายในโลกนี้ครับ ที่จะยอมรับว่า ยังคงมีเรื่องลี้ลับอยู่ในโบราณคดีไอยคุปต๋
ก็อย่างผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่าน ที่ผมอ้างถึงในบทความ ยังโดนพวกนักอียิปต์วิทยารุมกันสหบาทาซะน่วม ถึงขนาดฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว
เป็นการเล่าเรื่องได้น่าสนใจ น่าติดตามมากเลยค่ะ
ตอบลบเป็นความรู้ที่ยอดเยี่ยมมากเลย ขอบคุณมากๆนะคะ
ขอบคุณครับ ยินดีที่คุณชอบ
ลบ